ศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการประเมินภายนอกรอบที่ 4 ระหว่าง ปี 2559-63
วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2559
เรื่องที่ 12 : ทิศทางการประเมินภายนอก 2560-2563
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2559 คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ ของคณะกรรมการพัฒนาระบบประกันคุณภาพระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพพ.) ได้ร่วมกันประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนางานประกันคุณภาพภายนอกของ สมศ. โดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนางานที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้(เป็นข้อสรุปเบื้องต้น ที่ยังไม่ผ่านการรับรอง อย่างเป็นทางการ)
1. เรื่องมาตรฐานและตัวบ่งชี้เพื่อการประเมินภายนอก ที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ ใช้มาตรฐานและประเด็นตัวบ่งชี้ เหมือนกับมาตรฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายในของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประกาศใช้เมื่อ 11 ตุลาคม 2559 โดย
1.1 สมศ.จะมีการกำหนด Red Zone Indicators หรือ Critical Indicators ที่ถือเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่สถานศึกษาจะบกพร่องไม่ได้ ถ้าบกพร่องในตัวบ่งชี้สำคัญ จะได้รับการจัดอันดับคุณภาพไม่เกินระดับ พอใช้/ปานกลาง(เกรด C) ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ตัวบ่งชี้สำคัญ คือ
สำหรับสถานศึกษระดับปฐมวัย/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก...Red zone คือ "ความปลอดภัยสำหรับเด็ก" เช่น (1) สิ่งแวดล้อมปลอดภัย ..ความปลอดภัยด้านอาคาร สถานที่ เครื่องเล่น ระบบรถรับส่ง ฯลฯ (2) ความปลอดภัยด้านอาหาร (3) ความปลอดภัยด้านโรคภัย ตามฤดูกาล และ (4) ความปลอดภัยด้านสุขภาพจิต ความอบอุ่นในชีวิต การไม่ตี ข่มขู่ ฯลฯ
สำหรับสถานศึกษาระดับประถมศึกษา Red zone คือ (1) ทักษะการอ่านเก่ง/จับใจความได้ ของนักเรียนชั้น ป.3 และการเป็นนักอ่าน ของนักเรียนชั้น ป.4 เป็นต้นไป (2) ความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาเด็กบกพร่องหรือกลุ่มเรียนช้า(ถ้ามี) (3) ความมีวินัยและความสามารถในการดูแลตนเองของนักเรียนชั้นป.5-6
สำหรับสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา Red zone คือ (1) นิสัยรักการอ่าน-การอ่านแบบสะสมไมล์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (2) ความพยายามในการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกหรือไม่คล่อง หรือเรียนช้า(ถ้ามี) และ (3) ความรับผิดชอบต่อครอบครัวของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
1.2 จะมีการกำหนดตัวชี้วัดที่เปิดโอกาสให้สถานศึกษาพัฒนาตนเองให้มีความเป็นเลิศเฉพาะทาง เช่น ความเป็นเลิศด้านการพัฒนาเยาวชนตามเกณฑ์มาตรฐาน ประเทศไทย 4.0 ด้านจิตสาธารณะและรับผิดชอบต่อสังคม ด้านทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ด้านการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์-คิดสังเคราะห์ ด้านทักษะชีวิต ฯลฯ...สถานศึกษามีโอกาสได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นเลิศทางใดทางหนึ่งหรือหลายทาง เป็นความโดดเด่นที่พร้อมสำหรับการพิสูจน์ ตรวจสอบและเผยแพร่สู่สาธารณะชน
2. การกำหนดน้ำหนักคะแนนในการประเมินภายนอก ให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านผลการจัดการศึกษา หรือผลที่ปรากฏต่อนักเรียน (กำหนดน้ำหนักคะแนนด้านคคุณภาพหรือพัฒนาการของผู้เรียน มากกว่าร้อยละ 50 ของคะแนนเต็ม)...ทั้งนี้ การให้น้ำหนักคะแนน จะปรากฏเป็น 2 ส่วน คือ
2.1 การแจงนับร้อยละของเด็กที่ประสบความสำเร็จระดับดี-ดีมาก(Absolute Model)...โดยนัยนี้ โรงเรียนที่สามารถคัดเลือกเด็กหรือได้ตัวป้อนที่ดีมาจากครอบครัวที่มีความพร้อม ก็จะมีโอกาสได้คะแนนสูง
2.2 การแจงนับร้อยละของเด็กที่มีพัฒนาการสูง เมื่อเทียบกับฐานเดิมตอนแรกรับ(Growth Model)...ในประเด็นนี้ โรงเรียนที่ได้ตัวป้อนไม่พร้อม แต่มีความพยายามหรือมีรูปแบบการจัดการที่ดี ทำให้เด็กมีพัฒนาการจนมีคุณภาพระดับปานกลาง-ดี จะได้คะแนนสูง หรือโรงเรียนที่มีโอกาสคัดเลือกเด็ก ได้ตัวป้อนที่เป็นเด็กเก่ง แล้วสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม(Value-added) จนเด็กมีคุณภาพหรือมาตรฐานระดับสากล หรือเป็นเลิศเฉพาะ ก็จะได้คะแนนสูง เช่นกัน
3. การใช้ Advocacy Model-การเสริมแรงเชิงบวก ด้วยการชื่นชม ยินดี ประกาศเกียรติคุณ สถานศึกษาที่โดดเด่นเฉพาะทาง หรือหลายทาง หรือโดดเด่นในภาพรวม จำแนกตามแผนที่ภูมิศาสตร์ หรือตามภูมิภาค เพื่อประชาชนได้ร่วมชื่นชมและใช้บริการ รวมทั้งการประกาศเกียรติคุณ เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อปท. เทศบาล หรือต้นสังกัดคุณภาพสูงระดับพรีเมี่ยม(สีเขียว) ทุกระยะ 1 ปี (โดยในชั้นต้น จะใช้ข้อมูลจากผลการประเมินรอบที่ 2-3 เป็นข้อมูลในการจำแนกระดับคุณภาพและประกาศเกียรติคุณ)
4. กพพ. สมศ.จะใช้กลไกการสรุปและจัดทำรายงานการประเมินภายนอก เป็นระยะ ๆ ในลักษณะของบทสรุปสำหรับผู้บริหาร(Executive Report) เสนอต่อสาธารณะชน เครือข่ายผู้ปกครองแห่งประเทศไทย และต่อกรรมการนโยบายการศึกษา(Supper Board) เป็นระยะ ๆ เพื่อร่วมให้ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนางานต่อเนื่อง
5. การพัฒนาผู้ประเมินภายนอกให้มีความเชี่ยวชาญ มีศักยภาพสูง ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง อย่างต่อเนื่อง ผู้ประเมินภายนอก ถือเป็นกลุ่มบุคลากรที่สำคัญที่มีบทบาทในการทำงานร่วมกับ สมศ. ที่จะต้องได้รับการเสริมสร้างสมรรถนะให้มีศักยภาพสูง และเติมเต็มคามรู้ ทักษะ ร่วมสมัย อย่างต่อเนื่อง
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)