วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 26 นวัตกรรมต้นแบบ ที่เป็นแบบอย่างได้หรือเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ



    ในการประเมินภานอกรอบที่ 4(2559-63)  ในการตัดสินคุณภาพของระบบประกันคุณภาพภายใน(สมศ.มุ่งประเมินระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา) สมศ.ได้กำหนดเกรดหรือระดับคุณภาพ จำแนกเป็น 5 ระดับ คือ 1-ปรับปรุง 2-พอใช้  3-ดี  4-ดีมาก  5-ดีเยี่ยม
   ในกรณีที่จะให้คุณภาพระดับดีเยี่ยม  สถานศึกษาจะต้อง (1) มีพัฒนาการด้านคุณภาพอย่างต่อเนื่อง 2-3 ปี หรือผ่านระดับคุณภาพ 4-ดีมาก  และ (2) มีนวัตกรรมต้นแบบ ที่เป็นแบบอย่างได้ เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ อย่างหลากหลาย (อย่างน้อย 2-3 รายการ)....คำถาม คือ นวัตกรรมต้นแบบ กับ  การชนะเลิศ ได้โล่ห์รางวัลต่างๆ มากมาย มันเหมือนกันหรือไม่...ผู้ประเมินจำนวนหนึ่ง จัดทำบัญชี แจงนับรางวัล พอเห็นว่ามีความหลากหลายก็ได้ผลการประเมินระดับ 5-ดีเยี่ยม  ซึ่ง ไม่น่าจะเหมาะสมหรือไม่ใช้เจตนารมณ์ของการกำหนดเกณฑ์ 5-ดีเยี่ยม ตามที่ สมศ.คาดหวัง
   นวัตกรรมต้นแบบ แตกต่างจาก การทำงานประสบความสำเร็จ อย่างไร  โปรดฟัง คลิปเสียงต่อไปนี้

>>>นวัตกรรมต้นแบบ คลิ๊ก แล้วเปิดเสียง <<<




วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 25 การจำแนกประเภทโรงเรียน เป็นสีเขียว เหลือง แดง เป็นสิ่งที่นักประกนคุณภาพภายในต้องทำและผู้ประเมินภายนอก ต้องรู้


   โรงเรียนสีเขียว โรงเรียนสีเหลือง และโรงเรียนสีแดงของจังหวัดนี้ เป็นสัดส่วนอย่างไร..เป็นสีแดง เหลือง และเขียว กี่เปอร์เซ็นต์ และตั้งเป้าว่าจะผลักดันโรงเรียนสีแดงและเหลือง ให้หมดไป กลายเป็นสีเขียวทั้งหมดภายในปีไหน??? .....เป็นคำถามที่ผมถามตัวแทนต้นสังกัดในระดับจังหวัดหรือในระดับเขตพื้นที่การศึกษา
--------
 สัปดาห์ที่ 19-25 ต.ค.2562  ผมมีโอกาสไปร่วมอภิปรายกับ สมศ.ในที่ประชุมผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรแกนนำ และตัวแทนจากต้นสังกัด ในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดขอนแก่น(มีผู้ร่วมประชุมจากหลายจังหวัด)...ผมถามคำถามข้างต้นกับแกนนำและตัวแทนต้นสังกัด...ผมคิดว่าแกนนำของแต่ละจังหวัดยังตอบคำถามได้ไม่ชัดเจน เผลออาจไม่มีข้อมูลที่เป็นรูปธรรม
...ถ้าเรามองว่าจังหวัด คือ กศจ. หรือ เขตพื้นที่การศึกษา คือ พ่อ ของสถานศึกษา ที่มีลูกจังหวัดละ 500-1500 โรง(โรงเรียนคือลูก) ..น่าจะสรุปได้ว่า พ่อยังไม่รู้ศักยภาพของครอบครัวลูก..ซึ่งจะยากอย่างยิ่งที่จะวางแผนและตัดสินใจว่าควรจะช่วยครอบครัวของลูก ๆ ครอบครัวใดก่อน...พ่อ ต้องเข้าไปช่วยหนุนครอบครัวลูกที่เป็นสีแดงและสีเหลืองให้เข้มแข็ง ยืนได้ด้วยตัวเองก่อน(กลายเป็นครอบครัวสีเขียว)
---------
   ไม่อยากเห็นต้นสังกัดระดับพ่อ คือ กศจ./เขตพื้นที่ คอยดูหรือรอคอยวัน-เวลาที่ ปู่(หน่วยงานต้นสังกัด เช่น สพฐ./สช./อปท.) และทวด คือ รมต./ศธ. ที่คิดแต่เรื่องจะยุบทิ้ง/ทำลายครอบครัวลูกเรา คือคอยคิดแต่เรื่องยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เป็นที่เรียนของลูกชาวบ้านที่ยากจนและด้อยโอกาส....ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว แทนที่คิดจะยุบ ศธ.ในฐานะทวด ต้องคิดเรื่องช่วยเหลือ ค้ำจุน 17,000 โรง ที่เป็นที่เรียนของลูกชาวบ้านที่ยากจนเรียนประมาณ 1 ล้านกว่าคน ให้เขามีโอกาส ลืมตา อ้าปาก เช่น อาจช่วยโรงเรียนละ 500000 บาท ต่อปี ยังคุ้มกว่าแจกฟรีแบบ "ชิม ช๊อป ใช้" เลย...(ได้แต่ภาวนาให้ผู้มีอำนาจมองเห็น/ตาสว่าง และเกิดความเมตตา)
----------

หมายเหตุ ผมเคยถามคำถามทำนองนี้กับ สพท.นนทบุรีเขต 2 ในปี 2548 ในฐานประธานกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา สพท.ตอบว่า มีโรงเรียนสีแดง 4 โรงเรียน ต่อ มาเมื่อมานั่งเป็นประธาน สพท.กทม.2 ผมถามคำถามว่า มีโรงเรียนประเภทที่ 1 กี่โรง โรงเรียนประเภทที่สอง(ไม่พร้อม) กี่โรง สพท.ตอบว่า มีประเภทที่สอง 6 โรง จาก 46 โรงเรียน..เมื่อมานั่งเป็นกรรมการเขต สพป.ปทุมธานี 2 ก็ถามแบบเดียวกัน เขต ตอบว่า มีโรงเรียนสีแดง ไม่ผ่าน สมศ. 13 โรง....ผมเลยได้ข้อสรุปว่า ถ้าประธานหรือกรรมการ หรือ Board ให้ความสำคัญ มันหาข้อมูลได้แน่นอน และเรามีโอกาสในการพัฒนาหรือกำกับติดตามได้อย่างมีคุณภาพ

เรื่องที่ 24 การสร้างความเข้าใจกับสถานศึกษา เกี่ยวกับ "ตรรกะสำคัญ : ผลย่อมเกิดจากเหตุปัจจัย"

โรงเรียนและผู้ประเมินภายนอก จะต้องเข้าใจตรรกะสำคัญ คือ "ผลย่อมเกิดจากเหตุปัจจัย" กล่าวคือ ถ้าโรงเรียนแห่งหนึ่งล้มเหลวด้านคุณภาพผู้เรียน ก็แสดงว่า (1) กระบวนการบริหารจัดการ และ (2)กระบวนการสอนและระบบดูแลช่วยเหลือเด็ก ยังไม่ประสบความสำเร็จ(ใช่หรือไม่)

   ในการประเมินภายนอก ถ้าพบว่า ด้านคุณภาพผู้เรียน ไม่ว่าพิจารณาแบบอิงเกณฑ์(ร้อยละของเด็กที่มีคุณภาพระดับดี-ดีมาก) หรือพิจารณาจากพัฒนาการ(คุณภาพปีหลัง เทียบกับปีก่อน   หรือคุณภาพเด็กเมื่อเข้ามาเรียนครบ 3 ปี โดยเทียบกับฐานเดิมตอนแรกรับ)  หากพบว่า คุณภาพก็ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด หรือพัฒนาการ(Growth)ก็ไม่มี  หากกำหนดเป็นเกรดก็อยู่ระดับพอใช้-ดี ในกรณีเช่นนี้ แสดงว่าการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้ ยังไม่ประสบความสำเร็จ  ดังนั้นผลการประเมินคุณภาพด้านการบริหารและการสอนก็ไม่ควรได้รับผลการประเมินสูงกว่าระดับ "ดี"

   โดยนัยดังกล่าวข้างต้น  การตัดสินคุณภาพหรือการให้เกรดคุณภาพด้านบริหารและการสอน ไม่ควรสูงกว่าคุณภาพด้านผู้เรียน...จริงไหม???
-----------
   การบริหารสถานศึกษาก็เหมือนกับการบริหารจัดการในครอบครัว ถ้าลูกไม่เป็นคนดีของสังคม ไม่มีความรู้-ความสามารถเพียงพอที่จะดูแลตนเองในชีวิต...พ่อแม่จะอ้างว่า (1)อบรมสั่งสอนดีแล้ว และ(2)บริหารจัดการครอบครัวดีแล้ว ขอรับเกรดคุณภาพเป็นครอบครัวดีเด่น...มันย่อมฟังไม่ขึ้น
-----------
   ในการสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจในการประเมินภายนอกของ สมศ. ผมย้ำประเด็นนี้บ่อยครั้งมาก แต่เชื่อไหม...มันยังไม่เป็นที่เข้าใจตรงกันสักทีทั้งจากสถานศึกษาและผู้ประเมินภายนอก

วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 23 พบประเด็นที่บกพร่องของโรงเรียนที่วิกฤติหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อนักเรียน ควรบันทึกผลในรายงานหรือไม่

   เมื่อผู้ประเมินคนหนึ่ง พบว่าในการประเมินสถานศึกษา ได้พบจุดอ่อนหรือความบกพร่องสำคัญของสถานศึกษา เช่น เครื่องเล่นของด็กชำรุด แตกหัก อยู่ในภาวะล่อแหลมต่ออันตราย   มีเหล็กแหลมคมโผล่ที่ริมรั้วในระดับใบหน้าของเด็กนักเรียน  มีร่องน้ำที่สัตว์เลื้อยคลานสามารถเข้ามาในโรง
เรียนได้ง่าย(ติดกับป่า) โดยพบว่าในช่วงที่ไปประเมิน มีงูเลื้อยเข้ามาทางช่องนั้นๆ และเด็กอนุบาลกำลังเอาไม้ไล่ตีงู  ซึ่งทันทีที่พบจุดบกพร่องเหล่านี้ ก็ได้ตักเตือน  ..ซึ่งปรากฏว่าในวันรุ่งขึ้น โรงเรียนสั่งปรับปรุงทันที คือ เอาตาข่ายมาคลุมช่องทางที่สัตว์เลื้อยคลานจะเข้ามา(มีโครงเหล็กพร้อมมุ้งตาข่ายที่ป้องกันได้)  ยกของเล่นที่แตกหักออก  ตัดเหล็กดัดริมรั้วออกให้ดูปลอดภัย ฯลฯ

   สรุปปัญหา คือ โรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งมีเด็กระดับชั้นปฐมวัย ได้บกพร่องเรื่องความปลอดภัย ถือเป็นเรื่องสำคัญ  ซึ่งผู้ประเมินได้บันทึกไว้ในบันทึกภาคสนามแล้ว  เมื่อนำเสนอผลการประเมินเบื้องต้นด้วยวาจา ก็ได้นำเสนอประเด็นเหล่านี้ต่อที่ประชุมผู้เกี่ยวข้อง...แต่ โรงเรียนได้ทักท้วงและร้องขอว่า ขออย่าได้เขียนในรายงานการประเมินฉบับสมบูรณ์ หรือบทสรุปสำหรับผู้บริหาร เพราะจะทำให้ผู้ปกครองไม่สบายใจหรือตกใจกลัวได้

    คำถาม
1. ผู้ประเมินควรระบุจุดอ่อนเหล่านี้ แบบตรงไปตรงมาในรายงานการประเมินหรือไม่..ถ้าระบุจะเกิดผลกระทบต่อสถานศึกษาหรือไม่ อย่างไร
2. ถ้าไม่ระบุแบบตรงๆ ควรระบุอย่างไร หรือกำหนดเงื่อนไขอย่างไรกับสถานศึกษา
3. ถ้าไม่ระบุแบบตรงๆ โดยถือว่า ได้นำเสนอด้วยวาจา(Oral Presentation) และโรงเรียนได้แก้ไขปรับปรุงโดยเร่งด่วนแล้ว จะถือเป็นความบกพร่องในจรรยาบรรณของผู้ประเมินหรือไม่

วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 22 การให้ระดับคุณภาพในการประเมินภายนอกรอบสี่ : ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง


การประเมินระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา 

      จากการสังเกตผลการประเมินภายนอกโรงเรียนต่างๆ ซึ่งเป็นการประเมินความเข้มแข็งของระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา พบว่า ระดับคุณภาพที่ให้กับโรงเรียน สะท้อนว่า ผู้ประเมินจำนวนหนึ่งยังเข้าใจไม่ตรงกัน เกี่ยวกับเกณฑ์การให้ระดับคุณภาพผลการประเมินรายมาตรฐาน

      ตามหลักการของรอบที่สี่ .โรงเรียนตัดเสื้อ/ใส่เสื้อได้ตามอัธยาศรัย/กำหนดมาตรฐานเอง/ประกันคุณภาพตนเองตามอัธยาศรัย ครับ ...สมศ.ไปดูว่า
(1) โรงเรียนกำหนดมาตรฐาน+ตัวบ่งชี้ เหมาะสมไหม มีแผนงานโครงการรองรับอย่างเหมาะสมและเป็นไปได้ไหม
(2) ผลการประเมินตนเองของโรงเรียน น่าเชื่อถือไหม และ
(3) เกิดประสิทธิผลหรือเกิดผลดีตามเป้าประสงค์(Objectives)ของโรงเรียนไหม
----------
(4) ผลการพัฒนาหรือคุณภาพในระยะ 2-3 ปี มีพัฒนาการ(Growth)ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องไหม และ
(5) สามารถพัฒนานวัตกรรมต้นแบบที่หลากหลาย เป็นแบบอย่างในระดับประเทศ ที่ผ่านการเผยแพร่ อย่างเป็นรูปธรรมไหม...
----------
      ถ้าตอบ Yes 3 ข้อ ถือเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพมาตรฐาน หรือได้ผลการประเมินระดับดี(3) ถ้าตอบ Yes 4 ข้อ จะขึ้นสู่ระดับดีมาก(4) ถ้าตอบ Yes ทั้ง 5 ข้อ จะได้ ดีเยี่ยม(5)
-----------
      ตามนัยข้างต้น โรงเรียนที่ไม่มีโอกาสคัดเลือกเด็กเลย รับเด็กกลุ่มอ่อนหรือกลุ่มเสี่ยงเกือบทั้งหมด เข้ามาเรียน  แต่หากสามารถทำให้เด็กเกิดการพัฒนาขึ้นได้อย่างต่อเนื่องทั้งด้านวิชาการและด้านคุณลักษณะ จะมีโอกาสได้เกรดดีมาก(4)   หรือดีเยี่ยม(5)ได้.....โรงเรียนที่ปรากฏผลการประเมินตนเองปีล่าสุดสูงมาก(หรือบรรลุตามเป้าประสงค์ในระดับยอดเยี่ยม) แต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ในระยะ 2-3 ปีหลัง เด็กมีคุณภาพทั้งด้านวิชาการและคุณลักษณะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง  กรณีเช่นนี้ ผู้ประเมินภายนอก ไม่สามารถให้ผลการประเมินระดับ 4-ดีมาก หรือ 5-ดีเยี่ยมได้  อาจให้ผลการประเมินระดับ 3-ดี เท่านั้น

      อนึ่ง ในการประเมินรอบสี่ จะตัดสินและให้ระดับคุณภาพเป็นรายด้านหรือรายมาตรฐาน ไม่มีการรวมหรือเฉลี่ยในระดับภาพรวมของโรงเรียน และไม่มีการตัดสินว่ารับรองหรือไม่รับรอง แต่จะเน้นชี้แนะเพื่อการพัฒนา....โดยการชี้แนะจะมี 3 ประเภท คือ
I. รายการที่ต้องแก้ไขด่วน
II.รายการที่ควรปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และ
III.รายการที่ควรพัฒนาขึ้นสู่การเป็นโรงเรียนนวัตกรรมต้นแบบ


การประเมินความโดดเด่นเฉพาะทาง
   การประเมินความโดดเด่นเฉพาะทาง เป็นทางเลือกสำหรับสถานศึกษาที่ขอรับการประเมินเป็นพิเศษด้านใดด้านหนึ่ง อาทิ  ด้านวิชาการควบคู่กับคุณธรรม  ด้านทักษะภาษา   ด้านทักษะเฉพาะทาง  ด้านการบริหารจัดการ หรือ อื่น ๆ  ต้องเป็นประเด็นที่สถานศึกษาให้ความสำคัญและมุ่งมั่นพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จ โดยผู้ประเมินจะพิจารณาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ แล้วตดสินให้ระดับคุณภาพเป็น
C1 : โดดเด่นระดับภูมิภาค
C2 : โดดเด่นระดับชาติ
C3 : โดดเด่นระดับนานาชาติ
   กรณีโดดเด่นระดับชาติหรือนานาชาติ สมศ.จะประกาศเกียรติคุณ ให้เป็นที่รับทราบอย่างแพร่หลายในอนาคต 

วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 21 ทำอย่างไรให้ผลการประเมินมีความตรงตามสภาพจริง





   สิ่งที่น่ากังวลใจของนักประเมิน คือ ผลการประเมินไม่ตรงตามสภาพจริง(ไม่ว่าจะเป็นการประเมินภายใน หรือภายนอก) หรือไม่มีความตรงตามสภาพ(Concurrent Validity)  เช่น เราตัดสินผลการประเมินภายนอกในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2562 ว่า โรงเรียนนี้ในด้านผู้เรียนมีคุณภาพในระดับดีมาก(มีพัฒนาการต่อเนื่อง 2-3 ปี มาแล้ว)  หรือตัดสินผลการประเมินภายในว่า มีคุณภาพระดับยอดเยี่ยม(เพราะดำเนินการได้สูงกว่าเป้าหมายในทุกประเด็นหรือเกือบทุกประเด็น)   ปรากฏว่า ในปลายเดือน กรกฎาคม 2562 มีนักเรียนเครียด กระโดดตึก 1 คน เป็นข่าวครึกโครม  พอถัดอีก 1 สัปดาห์  นักเรียน หญิง ม.4 ยกพวกมาตีน้อง ม.2 จนเป็นข่าวอีก....ในกรณีเช่นนี้ น่าจะถือว่า ผลการประเมินไม่ตรงตามสภาพจริง(Concurrent Validity) หรือไม่มีความตรงเชิงทำนาย(Predictive Validity)...กรณีเช่นนี้ อาจจะสรุปพาดพิงได้ว่า กระบวนการประเมินและผลการประเมินเชือถือไม่ได้ ยังมีข้อบกพร่อง อย่างแน่นอน

   ในกรณีของการประเมินภายนอก บางครั้ง สถานศึกษา ส่ง SAR ของปีการศึกษา 2561 เพื่อมาขอรับการประเมิน  เป็นการส่งเข้าขอรับการประเมินในเดือน ตุลาคม 2562  โดยขณะที่ส่งนี้ เป็นที่รับทราบตรงกันหรือโรงเรียนก็ทราบดีว่า ในปีการศึกษา 2562 โรงเรียนแห่งนี้ เปลี่ยนผู้บริหาร และโรงเรียนประสบปัญหาต่าง ๆ เยอะมาก(ทั้งด้านคุณภาพทางวิชาการ และด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในตัวผู้เรียน) แนวโน้มคุณภาพของปี 2562 ตกต่ำลงเกือบทุกเรื่อง รวมถึงคาดการณ์ว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติ(O-NET)ก็น่าจะตกต่ำ อย่างแน่นอน
   จากสภาพเงื่อนไขช้างต้น เมื่อผู้ประเมินภายนอกไปทำการประเมินปลายปี 2562 โดยยึด SAR ปีการศึกษา 2561  และพอมองย้อนหลังไปดูในปี 2560 และ 2559 ก็เห็นว่า โรงเรียนแห่งนี้มีพัฒนาการดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง(Continuous Improve)  ซึ่งตามเกณฑ์การตัดสินระดับคุณภาพ คณะกรรมการผู้ประเมิน อาจให้ผลการประเมินระดับ 4-ดีมาก เพราะโรงเรียนมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง....แต่ปัญหา อยู่ที่ ณ ปัจจุบัน ปีการศึกษา 2562 แนวโน้มคุณภาพโรงเรียนนี้ลดลงในหลายเรื่อง หรือเกิดปัญหาหลายเรื่อง  หากพิจารณาในแง่ความเชื่อถือได้ของผลการประเมินด้านผู้เรียน เมื่อดูสภาพจริงในปี 2562 (ขณะที่ไปประเมิน) พบว่า  ที่เคยบอกว่าด้านผู้เรียนมีคุณภาพระดับ "ยอดเยี่ยม" นั้น มาบัดนี้   ณ ปี 2562 ไม่จริงเสียแล้ว  ในบทบาทของ Expert Judgement ในกรณีนี้ ผู้ประเมินมีสิทธิที่จะลดระดับคุณภาพ เพราะไม่สามารถยืนยันได้ว่าโรงเรียนนี้ มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน(นำข้อมูลปัจจุบัน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ)  หากประกาศผลการประเมินระดับ 4-ดีมาก ก็ถือว่า ผลการประเมินไม่ตรงตามสภาพจริง(ณ เวลานี้) อีกทั้ง ยิ่งหากปลายปี 2562 โรงเรียนยิ่งประสบปัญหาวิกฤติมากขึ้น ก็ยิ่งยืนยันว่า ผลการประเมินตนเอง ระหว่างปี 2559-2561  แม้จะมีความต่อเนื่อง แต่ก็ไม่มีแนวโน้มยั่งยืน  การตัดสินให้ผลการประเมินระดับ 4-ดีมาก ก็น่าจะถือว่าไม่ตรงตามสภาพจริง หรือไม่มีความตรงเชิงทำนายเลย ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติสำคัญของผลการประเมิน(ต้องมีความตรง เชื่อถือได้)...โดยนัยข้างต้นนี้ ผู้ประเมินภายนอกที่เชี่ยวชาญ จะต้องพิจารณาความตรงตามสภาพจริง(ของปีปัจจุบัน) ประกอบการตัดสินใจในการให้ระดับคุณภาพด้วย

วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 20 เงื่อนไขสำคัญในการให้ผลการประเมินระดับ 4-ดีมาก หรือ 5-ดีเยี่ยม ตามเกณฑ์ สมศ.

ในการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจและเตรียมพร้อมรองรับการประเมินภายนอกปี 2562-63 ณ โรงแรมสุนีย์ แกรนด์  จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562  ตัวแทนต้นสังกัดท่านหนึ่ง กล่าวในการร่วมอภิปรายว่า ตอนนี้ โรงเรียนสังกัดเราสบายใจขึ้นเยอะ ไม่เครียดแล้ว เพราะทราบว่ามีโรงเรียนสังกัด อปท.จำนวนหนึ่งในอุบลราชธานี ได้เข้ารับการประเมินเมื่อ  2 เดือนที่แล้ว  ขนาดโรงเรียนเหล่านั้นยังได้ผลการประเมินในระดับ 4-ดีมาก และ 5-ดีเยี่ยม ในบางด้าน  เราเลยไม่กังวลใจแล้ว...(ผมฟังแล้วสะอีกเลย)

ผู้ประเมินภายนอก สมศ.และผู้เกี่ยวข้อง ควรทำความกระจ่างเกี่ยวกับเกณฑ์การตัดสินคุณภาพ ในการประเมินภายนอกของ สมศ. ให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน โดยเฉพาะการให้ผลการประเมินระดับ 4-ดีมาก  และ 5-ดีเยี่ยม  ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้

การตัดสินให้คุณภาพระดับ 4-ดีมาก

   คุณภาพระดับ 4-ดีมาก   การจะตัดสินให้คุณภาพในระดับนี้ได้ สถานศึกษาต้องแสดงหลักฐานอย่างชัดเจนว่า  คุณภาพการศึกษา มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอด 2-3 ปีหลังสุด  ....เช่น ถ้าคุณภาพด้านผู้เรียนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ผลการประเมินด้านผู้เรียนก็จะได้ระดับคุณภาพ 4-ดีมาก เช่น

  • คะแนนเฉลี่ยโอเน็ตสู่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ปีการศึกษา ดังนี้ 47.26 %  53.48 %  56.25 %  ตามลำดับ..แสดงว่า ในประเด็นของโอเน็ต(เป็นหนึ่งประเด็น)โรงเรียนมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • คะแนนเฉลี่ยโอเน็ตสูงอย่างคงที่อยู่ที่ร้อยละ 87.42, 87.35 , และ 87.28 ตามลำดับ(เป็นโรงเรียนชั้นนำประเทศ)แต่ ร้อยละของเด็กที่ได้คะแนนโอเน็ตต่ำกว่า 50 % (เนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนชั้นนำประเทศ  เด็กที่ได้โอเน็ตต่ำกว่า 50 % มีไม่มากนัก) ในระยะ 3 ปีหลัง เหลือเพียง 14 %     9 %   และ  2 % ตามลำดับ หรือ ปีล่าสุดเหลือเพียง 2 % เท่านั้น ...แสดงว่า ในประเด็นของโอเน็ต โรงเรียนแห่งนี้มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • หากเป้าหมายคุณภาพมีหลายประเด็นหรือหลายตัวบ่งชี้ เช่น กำหนดประเด็นคุณภาพในเรื่อง ทักษะการอ่าน-นิสัยรักการอ่าน    ความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์   การสร้างสรรค์นวัตกรรม   ความสามารถด้านเทคโนโลยีเพื่อการดำเนินชีวิต  ผลการสอบโอเน็ต   คุณลักษณะด้านรักความเป็นไทย ฯลฯ ถ้าโรงเรียนกำหนดประเด็นย่อยๆ เหล่านี้ 10 ประเด็น    โรงเรียนต้องสามารถอธิบายให้เห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เป็นส่วนใหญ่ของรายการที่กำหนด( ประมาณ 7 ใน 10)  ก็จะถือว่า ผลการประเมินภายนอกด้านผู้เรียน โรงเรียนจะได้ระดับคุณภาพ 4-ดีมาก หรือมีพัฒนาการดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง


กรณีศึกษา I : โรงเรียนแห่งหนึ่งประเมินตนเองด้านผู้เรียน พบว่า โรงเรียนสามารถพัฒนาคุณภาพด้านผู้เรียนได้สูงกว่าเป้าประสงค์ที่กำหนดในทุกประเด็น(เช่น 10 ประเด็นคุณภาพ) จึงตัดสินว่า โรงเรียนมีคุณภาพระดับ "ยอดเยี่ยม"   "ยอดเยี่ยม"  และ  "ยอดเยี่ยม"  อย่างต่อเนื่องมา 3 ปี (เป็นมาตรคุณภาพระดับสูงสุดของการประเมินภายใน)   
      ผู้ประเมินภายนอก ถาม :  แนวโน้มคุณภาพด้านผู้เรียนดีมีพัฒนาการขึ้นหรือไม่ โปรดอธิบาย
      โรงเรียน ตอบ :  ก็มันสูงสุดแล้ว จะดีขึ้นได้อย่างไร  มันก็อยู่ตรงนี้แหละ
      ผู้ประเมิน ถาม : เด็กกลุ่มเรียนอ่อน หรือกลุ่มที่มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ยังไม่เข้มข้นพอ  มีหรือไม่  มีประมาณกี่ % ของนักเรียนทั้งหมดในแต่ละรุ่น   โรงเรียนทำอย่างไรกับเด็กกลุ่มนี้  ผลเป็นอย่างไร ในปีหลัง ๆ มีแนวโน้มดีขึ้นหรือไม่
      โรงเรียน ตอบ: เรายังไม่ได้ลงลึกขนาดนั้น คงต้องรอในปีต่อๆไป

    ผู้ประเมินภายนอก สรุปว่า  ด้านผู้เรียน โรงเรียนประเมินตนเองในระดับยอดเยี่ยม มา 3 ปีการศึกษาต่อเนื่อง โดยไม่ปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า คุณภาพผู้เรียนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เด็กกลุ่มอ่อนหรือกลุ่มเสี่ยง ก็ไม่มีแนวโน้มลดลง หรือเด็กกลุ่มเก่ง-ปัญญาเลิศ ก็ไม่ได้มีพัฒนาการหรือมีจำนวนมากขึ้น..สรุปว่า ด้านผู้เรียนไม่มีพัฒนาการดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถให้ผลการประเมินระดับ 4-ดีมาก ตามเกณฑ์ของ สมศ.ได้

การตัดให้คุณภาพระดับ 5-ดีเยี่ยม
   ในการประเมินภายนอกมาตรฐานใด ๆ เช่น การประเมินระบบประกันคุณภาพภายในด้านผู้เรียน ของโรงเรียน....การให้ ระดับคุภาพ 5-ดีเยี่ยม :โรงเรียนต้องสามารถสร้างนวัตกรรมต้นแบบด้านการพัฒนาผู้เรียน เป็นแบบอย่างได้ อย่างหลากหลาย  (ไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนใหญ่ของประเด็นด้านผู้เรียน แต่ให้พิจารณาที่ความหลากหลาย)  เช่น มี 2 รายการ ที่เป็นนวัตกรรมระดับนานาชาติ ไปนำเสนอในต่างประเทศหรือชนะเลิศมาแล้วในระดับนานาชาติมาแล้ว ก็ให้ระดับ 5-ดีเยี่ยมได้  แต่ถ้าประสบความสำเร็จในระดับชาติ ก็ควรมากกว่า 4-5 รายการ(จากประเด็นที่กำหนดด้านผู้เรียน 10 รายการ)  โดยในกรณีนี้ ผู้ประเมินต้องมั่นใจว่า
    (1) ผลงานของโรงเรียนต้อง "มีความเป็นนวัตกรรม อย่างแท้จริง"  เช่น เป็นวิธีการที่ผ่านการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนามาหลายปี จนประสบความสำเร็จ  เป็นวิธีการที่สร้างสรรค์ อิงหลักการหรือแนวคิดทฤษฎีใหม่ ๆ อย่างเป็นรูปธรรม  เช่น ด้านส่งเสริมให้เด็กเป็นนักอ่าน-ใฝ่เรียนรู้  ได้ศึกษาวิธีการของเกาหลี  ญี่ปุ่น และสิงค์โปร์ หลังจากนั้น สังเคราะห์เป็นวิธีการของโรงเรียนเอง  ได้ทดลองและปรับปรุงมา 3 ปี ปัจจุบัน เด็กที่นี่ เป็นนักอ่านแบบสะสมไมล์ มีผลงานการอ่านเยอะมากในแต่ละปี  จนส่งผลกระทบทำให้โอเน็ตสูงขึ้น อย่างเห็นได้ชัดในระยะ 2-3 ปีหลัง
     หากโรงเรียนบอกว่า ในด้านการสอน ครูที่นี่ สร้างนวัตกรรมต้นแบบอย่างหลากหลาย เช่น ทำชุดฝึก แบบฝึกในทุกรายวิชา  ...ผู้ประเมินต้องซักถามให้ชัดเจนว่า ชุดฝึก แบบฝึก มีความเป็นนวัตกรรม อย่างไรบ้าง  พัฒนาขึ้นบนจิตวิทยาการเรียนรู้สมัยใหม่ หรือการเสริมแรงเชิงบวก  หรืออิงแนวคิดทฤษฎีใหม่ ๆ อย่างไร...หากโรงเรียนอธิบายไม่ได้  ก็น่าจะเรียกว่า เป็นสื่อการสอนธรรมดา ที่ทำกันทั่วไปใน 3-4 หมื่นโรงเรียน ที่ไม่ได้เป็นแนวทางใหม่ ๆ หรือเป็นนวัตกรรม แต่ประการใด
   (2) ผู้ประเมินภายนอกต้องมั่นใจว่า  การให้ผลการประเมินระดับ 5-ดีเยี่ยม ในด้านใด ๆ...โรงเรียนนั้นต้องโดดเด่นระดับชาติ หรือนานาชาติ ที่พร้อมจะเป็นแหล่งเรียนรู้หรือศึกษาดูงานของโรงเรียนในประเทศไทย หรือในอาเซียน  หากไม่มั่นใจก็ยังไม่ควรให้ผลการประเมินในระดับนี้ เพื่อผลักดันในโรงเรียนมุ่งมั่นยกระดับสู่ความสำเร็จระดับสูงหรือนานาชาติ ในอนาคต(ปัจจุบัน ประเทศไทยมีคุณภาพอยู่ในระดับล้าหลังของประเทศในอาเซียน หรือในโลก  อันดับ 7 หรือ 8 อาเซียน หรือ 50 กว่า ๆ ในอันดับโลก)

วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 19 ถ้าสถานศึกษาบกพร่องใน RED ZONE จะให้ระดับคุณภาพเป็นดีมากหรือดีเยี่ยม ได้หรือไม่

  ในปี 2559 คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ ของคณะกรรมการพัฒนาระบบประกันคุณภาพระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพพ.) ได้ร่วมกันประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนางานประกันคุณภาพภายนอกของ สมศ. โดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ได้มีการกล่าวถึง Red Zone Indicators หรือ Critical Indicators ที่ถือเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่สถานศึกษาจะบกพร่องไม่ได้  ถ้าบกพร่องในตัวบ่งชี้สำคัญ จะได้รับการจัดอันดับคุณภาพไม่เกินระดับ พอใช้/ปานกลาง(เกรด C)  ทั้งนี้ ในการประชุมกรรมการ กพพ.เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562  รศ.นพ.สุริยเดว  ตรีปาตี กรรมการท่านหนึ่งก็เสนอให้ทบทวนและใช้ Red Zone Indicators  เป็นตัวบ่งชี้สำคัญ ในการกำกับคุณภาพ กล่าวคือ  ถ้าสถานศึกษาบกพร่องในเรื่องเหล่านี้ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะตัดสินคุณภาพให้อยู่ในระดับ 4-ดีมาก หรือ 5-ดีเยี่ยม  ตัวบ่งชี้สำคัญ เช่น

             สำหรับสถานศึกษระดับปฐมวัย/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก...Red zone  คือ "ความปลอดภัยสำหรับเด็ก" เช่น (1) สิ่งแวดล้อมปลอดภัย  ..ความปลอดภัยด้านอาคาร สถานที่ เครื่องเล่น ระบบรถรับส่ง ฯลฯ (2) ความปลอดภัยด้านอาหาร (3) ความปลอดภัยด้านโรคภัย ตามฤดูกาล และ (4) ความปลอดภัยด้านสุขภาพจิต ความอบอุ่นในชีวิต การไม่ตี ข่มขู่ และ (5) ระบบดูแลเด็กที่มีพัฒนาการช้ากว่าปกติ หรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

            สำหรับสถานศึกษาระดับประถมศึกษา  Red zone คือ  (1) ทักษะการอ่านเก่ง/จับใจความได้ ของนักเรียนชั้น ป.3  และการเป็นนักอ่าน ของนักเรียนชั้น ป.4 เป็นต้นไป (2) ความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาเด็กบกพร่องหรือกลุ่มเรียนช้า(ถ้ามี)  (3) ความมีวินัยและความสามารถในการดูแลตนเองของนักเรียนชั้นป.5-6

            สำหรับสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา Red zone คือ (1) นิสัยรักการอ่าน-การอ่านแบบสะสมไมล์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  (2) ปัญหาพฤติกรรม ปัญหาชู้สาว การตีกันระหว่างสถานศึกษา  (3) ความพยายามในการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกหรือไม่คล่อง หรือเรียนช้า(ถ้ามี)  (3) ความพยายามแก้ปัญหาพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของนักเรียน (4) ความรับผิดชอบต่อครอบครัว ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  

...ผู้ประเมินอาจใช้เหตุผล เกี่ยวกับความบกพร่องในรายการ RED ZONE Indicator  เป็นเงื่อนไขที่ไม่สามารถให้ระดับคุณภาพเป็น 4-ดีมาก  หรือ 5-ดีเยี่ยม ทั้งๆ ที่ในภาพรวม โรงเรียนมีพัฒนาการต่อเนื่อง 2-3 ปี เป็นส่วนใหญ่ของรายการที่กำหนด หรือมีนวัตกรรมที่หลากหลาย

เรื่องที่ 18 : กรณีศึกษา การจำแนกระดับคุณภาพในการประเมินภายนอกของ สมศ.



หลักการของ สมศ. ในการประเมินรอบสี่ : ใช้กลไกการประเมินภายนอกเพื่อกระตุ้นให้สถานศึกษาเกิดการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง


การสร้างมาตรวัดที่อิง GROWTH MODEL :  ในการประเมินรอบสี่  สมศ. มุ่งประเมินความเข้มแข็งหรือความเฉียบคมของระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา โดยเชื่อว่า ถ้าสถานศึกษาดำเนินการประกันคุณภาพภายในอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยนำผลการประเมินตนเองไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพงานในปีถัดไป อย่างต่อเนื่อง นอกจากจะเห็นผลในแง่ความเปลี่ยนแปลงของกระบวนการบริหารจัดการแล้ว น่าจะเห็นพัฒนาการด้านผู้เรียนอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม(คุณภาพในปีหลัง สูงกว่าปีก่อน) ในการนี้ จึงได้กำหนดมาตรวัด ในการตัดสินคุณภาพแบบอิงพัฒนาการ  เช่น กรณีตัดสินคุณภาพของการประกันคุณภาพด้านผู้เรียน กำหนดมาตรวัดคุณภาพ ดังนี้


                                5-ดีเยี่ยม = ถ้าผู้เรียนมีพัฒนาการต่อเนื่อง และโรงเรียนมีนวัตกรรมด้านการพัฒนาผู้เรียน ที่หลากหลาย

                            4-ดีมาก =  คุณภาพเป็นไปตามเป้าประสงค์ และคุณภาพผู้เรียนมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในระยะ 2-3 ปีล่าสุด (คุณภาพปีหลัง สูงกว่าปีก่อน) 
                      3-ดี   =  องค์ประกอบ ตัวบ่งชี้ เกณฑ์การตัดสิน  แผนงาน/โครงการ/กิจกรรมพัฒนา มีความเหมาะสม เป็นไปได้  และผลการประเมินตนเองเชื่อถือได้ คุณภาพเป็นไปตามเป้าประสงค์ที่กำหนด
                 2-พอใช้ = บกพร่องบางรายการ
            1-ปรับปรุง = บกพร่องหลายรายการ

   ตามนัยของมาตรวัดหรือมาตรในการตัดสินคุณภาพข้างต้นนี้  โรงเรียนใด ๆ จะได้รับการตัดสินคุณภาพในระดับ 4-ดีมาก ก็ต่อเมื่อ ปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า คุณภาพผู้เรียนในปีหลัง มีแนวโน้มดีกว่าปีก่อน


สมมติว่าท่านเป็นผู้ประเมินภายนอกของ สมศ. ขอให้ลองตัดสินให้ระดับคุณภาพของผู้เรียน ในกรณีศึกษา ต่อไปนี้



Case Study : สถานศึกษาแห่งหนึ่ง เป็นสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง มีโอกาสคัดเลือกเด็กที่มีพื้นฐานเรียนดีจากทั่วประเทศ เข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในการนี้ มีนักเรียนที่มีพื้นฐานทางการเรียนระดับปานกลาง หรืออ่อน ได้รับการฝากเข้าเรียนประมาณ 8-10 % ของเด็กทั้งหมด  เมื่อถึงชั้น ม.3 ปรากฏผลการทดสอบด้านวิชาการ ดังนี้
นักเรียนมากกว่า 90 %  สอบโอเน็ตได้คะแนนสูงกว่า 70 % ของคะแนนเต็ม มีค่าเฉลี่ยโอเน็ต 3 ปีล่าสุดเท่ากับ  87.26,  87.24  และ 87.23 ตามลำดับ สูงเป็นอันดับที่หนึ่งของประเทศ ในทุกปี
มีนักเรียนที่ได้คะแนน โอเน็ตต่ำกว่า ร้อยละ 50 ของคะแนนเต็ม คิดเป็นร้อยละ 9.87, 9.65 และ 9.65 ของนักเรียทั้งหมดในแต่ละรุ่น ตามลำดับ
โรงเรียนประเเมินตนเอง ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนว่ามีคุณภาพระดับ ยอดเยี่ยม  ยอดเยี่ยม และ ยอดเยี่ยม  3 ปีต่อเนื่อง(เนื่องจากกำหนดเกณฑ์ว่า  ยอดเยี่ยม  คือ นักเรียนมากกว่าร้อยละ 90 ได้คะแนนเฉลี่ยโอเน็ตระดับดีหรือมากกว่า 70 % ของคะแนนเต็ม)

สรุป โรงเรียนนี้ ประเมินตนเองว่าด้านผลสัมฤทธิ์ ได้ระดับคุณภาพ ยอดเยี่ยม 3 ปีต่อเนื่อง(มาตรในการตัดสินคุณภาพภายใน คือ 5-ยอดเยี่ยม  4-ดีเลิศ  3-ดี  2-พอใช้  1-กำลังพัฒนา)
คำถาม : หลังจากที่ผู้ประเมินภายนอกตรวจสอบข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่า ผลการประเมินตนเองในประเด็นนี้ เชื่อถือได้ กล่าว คือ มีเด็กมากกว่า 90 % ได้คะแนนผลสัมฤทธิ์ระดับ ดี(ได้เกิน 70 % ของคะแนนเต็ม)จริง การตัดสินระดับคุณภาพตนเองของโรงเรียนว่ามีคุณภาพระดับยอดเยี่ยมนั้น ถูกต้อง ตรงตามสภาพจริง แล้ว ...ในกรณีนี้ ถ้า พิจารณามาตรวัดคุณภาพแบบอิงพัฒนาการ(Growth Model) ตามเกณฑ์ของ สมศ.(5-ดีเยี่ยม มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและมีวัตกรรมหลากหลาย,  4-ดีมาก มีพัฒนาการต่อเนื่อง 2-3 ปี,  3-ดี ตัวชี้วัดเหมาะสม เป็นไปได้ ผลการประเมินตนเองเชื่อถือได้ และบรรลุตเป้าประสงค์ของโรงเรียน)  คำถาม คือ 
I. ท่านในฐานะผู้ประเมินภายนอกของ สมศ.จะให้ระดับคุณภาพเกี่ยวกับการประกันคุณภาพผู้เรียนในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ ในระดับใด
(  ) 5-ดีเยี่ยม มีนวัตกรรมด้านการพัฒนาผลสัมฤทธิ์
(  ) 4-ดีมาก ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีพัฒนาการต่อเนื่อง 2-3 ปีล่าสุด
(  ) 3-ดี ตัวชี้วัดเหมาะสม เป็นไปได้ ผลการประเมินตนเองเชื่อถือได้ และบรรลุตาม
     เป้าประสงค์ของโรงเรียน
(  ) 2-พอใช้
(  ) 1-ปรับปรุง
II.โรงเรียนนี้ ควรปรับปรุง พัฒนาตนเอง ในแง่ใด

เรื่องที่ 17 Leniency errors: ความคลาดเคลื่อนในเชิงการปล่อยคะแนนสูงกว่าหรือต่ำกว่าความเป็นจริง


ในการประเมินผลภายในหรือประเมินภายนอก บ่อยครั้งที่นักประเมินมีแนวโน้มที่จะปล่อยคะแนนสูงมากกว่าปกติ หรือต่ำกว่าปกติ โดยในกรณีของประเทศไทย มักมีแนวโน้มปล่อยคะแนนสูงกว่าปกติ ไม่ตรงตามสภาพจริง ซึ่งอาจเนื่องมาจากเครื่องมือหรือมาตรประเมินที่ขาดความเป็นปรนัย หรือมีความเกรงใจ กลัวว่าผู้รับการประเมินอาจจะไม่พอใจ กลายเป็นการประเมินแบบเอาใจเพื่อความสบายใจของผู้รับการประเมิน(Charity Model)

   จากประสบการณ์ ที่พบเห็นผลการประเมินภายนอกรอบที่ 2-3(2549-2553, 2554-2558) รวมถึงการประเมินเชิงนำร่องในรอบที่ 4(2559-2563) พบว่า  ในขณะที่ผลการประเมินด้านผู้เรียนได้ระดับคุณภาพระดับพอใช้หรือควรปรับปรุง แต่ผลการประเมินด้านบริหารหรือการสอน ได้คะแนนระดีบดี-ดีมาก ซึ่งน่าจะไม่สมเหตุสมผล  กล่าวคือ ถ้า ถ้ากระบวนการบริหารและกระบวนการจัดการเรียนการสอนดีมากหรือยอดเยี่ยมจริงๆ  คุณภาพด้านผู้เรียนก็น่าจะอยู่ในระดับดี-ดีมาก เช่นกัน(ตามหลักของ ห่วงโซ่คุณภาพ) (ผู้ประเมินอาจตัดสินผลด้านผู้เรียนที่ตรงตามสภาพจริง โดยไม่ต้องเกรงใจนักเรียน  แต่ด้านบริหารและการสอน อาจจะมีความเกรงใจหรือกังวลใจกับผลกระทบเชิงลบต่ผู้บริหารและครู หากประเมินต่ำเกินไป

การประเมินที่ปล่อยคะแนนสูงกว่าปกติ เกิดผลดี-ผลเสีย อย่างไร
ข้อดี : ทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง สบายใจ มีความสุข ที่ได้รับการชื่นชม ว่ามีคุณภาพระดับ "ดีเยี่ยม"(ถ้าผลการประเมินตรงตามสภาพจริง เด็กส่วนใหญ่ หรือมากกว่าร้อยละ 90 มีคุณภาพ ก็มีปัญหาไม่มากนัก แต่เด็กจำนวนหนึ่ง 9-10 % ก็อาจถูกทอดทิ้งหรือละเลย)
ข้อเสีย
1. ทำให้ผู้รับการประเมินไม่ทราบสภาพที่แท้จริงของตนเอง หลงว่ามีคุณภาพระดับสูง(เนื่องจากผลการประเมินระบุว่า ดีเยี่ยม  ดีเยี่ยม และดีเยี่ยม ในทุกด้าน  ทำให้ลดทอนความมุ่งมั่นในการพัฒนา
2. ทำให้สถานศึกษาไม่ทราบจุดอ่อนของตนเอง เด็กจำนวนหนึ่งที่ยังคงเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง กลุ่มอ่อน หรือกลุ่มที่ยังไม่มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์  9-10 %  ตกอยู่ในสภาพเดิม รุ่นแล้ว รุ่นเล่า
3. โรงเรียนชั้นนำ จำนวนหนึ่ง เมื่อได้รับการการันตีว่า ดีเยี่ยมในทุกด้าน หรืออยู่ในกลุ่มยอดเยี่ยมของประเทศ จะไม่มีพลังหรือไม่มีแรงขับ ในการขับเคลื่อนสู่มาตรฐาสากล หรือแข่งขังระดับนานาชาติ ทำให้ประเทศเสียโอกาส

...หน้าที่ของนักประเมิน คือ การใช้กลไกการประเมินเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา อย่างต่อเนื่อง ตามบริบทของสถานศึกษา กล่าวคือ ถ้าสถานศึกษามีโอกาสคัดเด็กคุณภาพสูงเข้าเรียน ก็ควรทุ่มเทเพื่อความเป็นเลิศมากยิ่งขึ้น หรือพัฒนาเด็กให้เป็นเลิศในเกือบทุกด้าน ไม่ใช่พอปรากฏค่าเฉลี่ยหรือร้อยละของเด็กที่มีคุณภาพ  เปอร์เซ็นต์ค่อนข้างสูงมากเพีงบางด้าน(ด้านผลสัมฤทธิ์)แล้ว เราก็พอใจ...


วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 16 ถ้า ร.ร.ประเมินตนเองอยู่ในระดับดีเลิศ อย่างต่อเนื่อง แสดงถึงการไม่มีพัฒนาการใช่หรือไม่?

   ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ ร.ร.กำหนดเกณฑ์การตัดสินคุณภาพภายใน เป็น 1-กำลังพัฒนา 2-ปานกลาง 3-ดี  4-ดีเลิศ  และ 5-ยอดเยี่ยม...หากโรงเรียนแห่งหนึ่งประเมินตนเอง เช่น ประเมินด้านผู้เรียนว่า มีคุณภาพระดับ 4-ดีเลิศ มาอย่างต่อเนื่อง ใน 3 ปี ล่าสุด..แสดงว่าโรงเรียนนั้นไม่มีพัฒนาการ(Imptovement/Growth) ใช่หรือไม่  ผู้ประเมินภายนอก สมศ. ไม่สามารถให้ระดับคุณภาพในการประเมินภายนอก ในระดับ 4-ดีมาก(มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง) ใช่หรือไม่
   คำตอบ ในข้อสงสัยข้างต้น คือ
   1.ใช่  ไม่สามารถให้ระดับคุณภาพ 4-ดีมาก ได้ หากโรงเรียนอธิบายไม่ไม่ได้ว่า คุณภาพผู้เรียนมีพัฒนาดีขึ้น ในประเด็นต่างๆ ตามที่โรงเรียนกำหนด อาทิ ด้านทักษะการอ่าน  ด้านความสามารถในการคิดวิคราะห์ ด้านทักษะไอ ซี ที ฯลฯ
   2.ไม่ใช่...อาจให้ระดับคุณภาพ 4-ดีมาก ได้หากสถานศึกษาอธิบายได้ว่าหรือมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าคุณภาพด้านผู้เรียนมีแนวโน้มหรือมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง(แม้ระดับคุณภาพโดยรวม ไม่เปลี่ยน คืออยูในระดับ 4-ดีเลิศ) เช่น ร้อยละของด็ก ที่ได้ O-NET น้อยกว่า 40% มีแนวโน้มลดลง จนเกือบหมดไป  หรือ ด้านทักษะไอ ซี ที เดิมเคยมีเด็กที่มีทักษะระดับปานกลาง-ต้องปรับปรุง ประมาณ 10 %  2 ปีต่อมาลดเหลือ 6 % และ 2 % ในปีล่าสุด ซึ่งในปีต่อไป คาดว่าน่าจะ NO CHILD LEFT BEHIND  เป็นต้น...ถ้า ร.ร.อธิบายได้หรือมีหลักฐานชัดเจนว่าคุณภาพด้านผู้เรียน มีพัฒนาการดีขึ้น เป็นส่วนใหญ่ของประเด็นคุณภาพที่กำหนด เช่นนี้  ผู้ประเมินภายนอกก็สามารถให้ระดับคุณภาพในการประเมินภายนอก เป็น 4-ดีมาก หรือมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อ้นื่องใน2-3 ปีหลัง ได้

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 15 หากคุณภาพด้านผู้เรียนไม่มีพัฒนาการดีขึ้น จะถือว่ากระบวนการบริหารและการสอน มีคุณภาพได้หรือไม่

ตามหลักห่วงโซ่คุณภาพ :

   กระบวนการบริหารจัดการ+กระบวนการสอนที่มีประสิทธิภาพ >>>จะนำไปสู่คุณภาพด้านผู้เรียนหรือทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพ 

สถานการณ์ผลการประเมินและคำถาม

   ในการประเมินภายนอกโดย สมศ. ในกรณีที่สถานศึกษา ได้รับการตัดสินคุณภาพด้านผู้เรียนว่ามีคุณภาพในระดับดี กล่าวคือ (1) ตัวชี้วัด และแผนงาน/โครงการพัฒนา มีความเหมาะสม เป็นไปได้ และ(2) ผลการประเมินตนเองเชื่อถือได้..จึงได้ผลการประเมินระดับ 3-ดี ....แต่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าคุณภาพผู้เรียนมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง(โรงเรียนจะได้รับการตัดสินคุณภาพระดับ 4-ดีมาก ถ้า คุณภาพด้านผู้เรียน มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง)....คำถาม คือ ในกรณีเช่นนี้  ผลการประเมินคุณภาพด้านกระบวนการบริหารจัดการและกระบวนการสอน(ซึ่งเป็นตัวแปรสาเหตุ) จะได้รับการตัดสินว่ามีคุณภาพระดับ "ดีมาก-4" ได้หรือไม่

....(คอยติดตามคำตอบนะครับ)

เรื่องที่ 14 หากต้องติดตามนโยบาย ควรดำเนินการอย่างไร




1. ตามกฏกระทรวงฯ ว่าด้ายการประกันคุณภาพภายใน พ.ศ. 2561 สถานศึกษาเป็นผู้กำหนดมาตรฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายใน จัดทำแผนงาน/โครงการหรือกิจกรรมพัฒนา ดำเนินการพัฒนา และประเมินตนเอง
    มาตรฐาน ตัวบ่งชี้ เป้าประสงค์ และแผนงาน/โครงการ จะถือว่าเหมาะสมและเป็นไปได้ ถ้า
   (1) สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดโดยต้นสังกัด
   (2) สอดคล้องกับนโยบายของต้นสังกัด /นำนโยบายมาร่วมเป็นกรอบในการพัฒนา
   (3) สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา
    -------
   (4) มีการดำเนินการจริง จนประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่กำหนด  ส่งผลดี ทำให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่อง ทั้งในรายการทั่วไป และรายการที่เป็นนโยบาย/จุดเน้น และ
   (5) สามารถสร้างต้นแบบนวัตกรรมที่เป็นแบบอย่างได้ ทั้งในประเด็นทั่วๆไป และประเด็นที่เป็นนโยบายหรือจุดเน้น

2.ในแต่ละรอบปี ต้นสังกัดหรือศธ.อาจประกาศนโยบาย หรือจุดเน้น หรือในกรณีที่มีการเปลี่ยนตัว รมต. ก็อาจปรับเปลี่ยนนโยบายหรือจุดเน้น ในกรณีเช่นนี้ สถานศึกษา ควรปฏิบัติอย่างไร
    2.1 ควรวิเคราะห์นโยบาย/จุดเน้น แล้วทบทวนหรือกำหนดมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ทุกรอบปี (อาจกำหนดเพิ่ม หรือยุบรวม หรือปรับปรุงให้สอดคล้อง เหมาะสม)
    2.2 จัดทำแผนงาน/โครงการรองรับ ในรอบปี เป็นรายมาตรฐาน หรือตัวบ่งชี้  แล้วนำแผนสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง
    2.3 ทำการประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรฐาน ในรอบปี แล้วจัดทำ รายงานการประเมินตนเองที่สอดคล้องหรือครอบคลุมมาตรฐานคุณภาพที่กำหนด  โดยในรายงานควรระบุผลการดำเนินงานในภาพรวม และชี้ให้เห็นผลการดำเนินงานตามตัวบ่งชี้ หรือนโยบายที่สำคัญๆ

3. ผู้ประเมินภายนอก สมศ. ยังคงตัดสินคุณภาพของระบบประกันคุณภาพภายใน โดยพิจารณาในด้าน(1) ความเหมาะสม ความเป็นระบบ และเป็นไปได้  (2) ความเชื่อถือได้ของผลการประเมินตนเองตามตัวชี้วัดที่กำหนด ซึ่งมีทั้งรายการที่เป็นนโยบายของต้นสังกัด หรือตามจุดเน้นในบริบทของตนเอง และ (3) ประสิทธิผลที่เกิดขึ้นในด้านประสิทธิผลตามเป้าประสงค์ พัฒนาการของคุณภาพในระยะ 2-3 ปี และ การสร้างผลลิตนวัตกรรมที่เป็นแบบอย่างได้

...โดยสรุป ในการติดตามงานตามนโยบาย ผู้ประเมินภายนอก ยังคงตัดสินคุณภาพตามกรอบประเด็นปกติ ในด้าน(1)ความเหมาะสม เป็นระบบและเป็นไปได้  (2)ความเชื่อถือได้ของผลการประเมินตนเอง และ(3) ประสิทธิผลที่เกิดขึ้นในด้านพัฒนาการของผู้เรียนหรือกระบวนการบริหารจัดการ และการสร้างต้นแบบนวัตกรรม

---------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องที่ 13 แนวทางการประเมินภายนอกรอบสี่ (2562-2563)


1. หลักการและแนวคิดสำคัญในการประเมินภายนอก รอบที่สี่ 
  การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ใช้วิธีการตัดสินแบบองค์รวม (Holistic Approach)  โดยผู้ประเมินที่มีความเชี่ยวชาญ (Expert Judgment) ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ พิจารณาหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่เกิดจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของสถานศึกษา

  การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ สมศ. ไม่มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสถานศึกษาขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการประเมินที่เชื่อมโยงกับระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา เน้นการประเมินเพื่อ “พัฒนา” ไม่มีการตัดสินผลการประเมินว่า “รับรอง-ไม่รับรอง”  แต่จะเป็นการยืนยัน(Certification) คุณภาพหรือความคมของระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา

  การตัดสินผลการประเมิน  จะสรุปคุณภาพของระบบประกันคุณภาพในแต่ละองค์ประกอบของสถานศึกษา และให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา  โดยไม่นำมาสรุปหาค่าเฉลี่ยทางคณิตศาสตร์ขององค์ประกอบต่างๆ ในภาพรวม  อีกทั้ง สมศ. ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก (Automated QA: AQA) ช่วยส่งเสริมระบบการดำเนินงานของการประเมินคุณภาพ และลดภาระด้านเอกสารของสถานศึกษา ไม่ต้องจัดทำเอกสารเพื่อรองรับการประเมินคุณภาพภายนอก  แต่เป็นการจัดทำเอกสาร ข้อมูลสารสนเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการศึกษาตามปกติของสถานศึกษา

2. เป้าของการประเมินและประเด็นที่มุ่งประเมิน

เป้าของการประเมิน มุ่งประเมินระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา  : ระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
ประเด็นที่มุ่งพิจารณา
2.1 ความเหมาะสม เป็นระบบ และเป็นไปได้ (Propriety /Feasibility) ของมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ เกณฑ์การประกันคุณภาพภายใน รวมถึงแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมเพื่อพัฒนาเพื่อสู่มาตรฐาน : มาตรฐาน ตัวบ่งชี้ เกณฑ์ ฯ มีความเหมาะสม เป็นไปได้ หรือมีความเป็นระบบ มากน้อยเพียงใด(ครอบคลุม ครบถ้วน สอดคล้องกับเงื่อนไข/นโยบายของต้นสังกัด  และบริบทของสถานศึกษา สามารถดำเนินการได้จริง ประหยัด และคุ้มค่า) 
ความเป็นระบบ (Systematic) หมายถึง กระบวนการดำเนินงานด้านการบริหารและการจัดการ ดำเนินการอย่างเป็นระบบครบวงจรของการปฏิบัติงาน อาจจะเป็น กระบวนการ PDCA คือ
การวางแผน (
Plan)  การปฏิบัติตามแผน (DO)  การตรวจสอบ (Check) และ การปรับปรุงการดำเนินการอย่างเหมาะสม (Act) เป็นต้น

          2.2 ความเชื่อถือได้ (Accuracy/Validity / Credibility) ของผลการประเมินตนเอง : ผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา น่าเชื่อ หรือเชื่อถือได้ มากน้อยเพียงใด พิจารณาจาก ความน่าเชื่อถือของคณะผู้ประเมินภายในและกระบวนการประเมินภายใน และความเชื่อถือได้ของผลการประเมินเมื่อตรวจสอบจากหลักฐานเชิงประจักษ์ (ตรงตามสภาพจริง ยอมรับได้) 

          2.3 ประสิทธิผล (Effectiveness) ของการประกันคุณภาพภายใน : ระบบประกันคุณภาพภายใน มีผลทำให้(1) เกิดการพัฒนาด้านผู้เรียน หรือด้านกระบวนการบริหาร หรือกระบวนการจัดการเรียนการสอน หรือไม่เพียงใด(ทำให้ GROWTH หรือ เกิด IMPROVEMENT)  พิจารณาจาก พัฒนาการในระยะ 2-3 ปีล่าสุด และ (2) ผลการพัฒนาที่เกิดขึ้นในแง่ของการสร้างนวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร และวงวิชาการ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เกิดนวัตกรรมที่เป็นแบบอย่างได้ หรือไม่  (โดยสรุป ประสิทธิผล ตัดสินเป็น 2 ระดับคุณภาพ คือ  การเกิดผลดีต่อการยกระดับคุณภาพ และ การสร้างนวัตกรรมต้นแบบต่อวงวิชาการ)

   หากสถานศึกษา กำหนดมาตรฐานจำแนกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านผู้เรียน   ด้านกระบวนการบริหารจัดการ  และ ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอน  ในกรณีนี้  ผู้ประเมินภายในอกจะพิจารณา แล้วตัดสินคุณภาพ จำแนกเป็น 3 ด้าน คือ
   I. ด้านผู้เรียน : (1)กำหนดมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ หรือเกณฑ์ รวมถึงแผนงาน โครงการ อย่างเหมาะสมและเป็นได้หรือไม่ (2) ผลการประเมินตนเองด้านผู้เรียน เชื่อถือได้หรือไม่ และ (3) การประกันคุณภาพในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผลทำให้คุณภาพผู้เรียนมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ และ สามารถสร้างนวัตกรรมต้นแบบด้านการพัฒนาผู้เรียนได้อยากหลากหลายหรือไม่ ...ตัดสินระดับคุณภาพเป็น 

                                5-ดีเยี่ยม = ผ่านเกณฑ์ระดับ 4 และ มีนวัตกรรมด้านการพัฒนาผู้เรียนที่หลากหลาย
                            4-ดีมาก =  ผ่านเกณฑ์ระดับ 3 และคุณภาพผู้เรียนมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
                                             ในระยะ 2-3 ปีหลังสุด  
                      3-ดี   =  องค์ประกอบ ตัวบ่งชี้ เกณฑ์การตัดสิน  แผนงาน/โครงการ/กิจกรรมพัฒนา  
                                   มีความเหมาะสม เป็นไปได้  และผลการประเมินตนเองเชื่อถือได้ 
                 2-พอใช้ = บกพร่องบางรายการ
            1-ปรับปรุง = บกพร่องหลายรายการ
----------------------------------------------------------------------------------------------
II. ด้านกระบวนการบริหารจัดการ : (1) กำหนดมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ อย่างเหมาะสม เป็นไปได้หรือไม่ กระบวนการดำเนินงานมีความเป็นระบบหรือไม่เพียงใด (2) ผลการประเมินตนเองด้านการบริหารจัดการ เชื่อถือได้หรือไม่ และ (3) การประกันคุณภาพภายในด้านบริหาร ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผลทำให้กระบวนการบริหารจัดการมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่  รวมถึง ได้สร้างนวัตกรรมต้นแบบด้านบริหารที่เป็นแบบอย่างได้ หลากหลายหรือไม่ เพียงใด....แล้วตัดสินระดับคุณภาพเป็น 1-ปรับปรุง 2-พอใช้   3-ดี    4-ดีมาก  และ   5-ดีเยี่ยม

   III. ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอน : (2) กำหนดมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ อย่างเหมาะสม เป็นไปได้หรือไม่ กระบวนการจัดการเรียนการสอนเป็นระบบหรือไม่เพียงใด (2) ผลการประเมินตนเองด้านการจัดการเรียนการสอน เชื่อถือได้หรือไม่ และ (3) การประกันคุณภาพภายในด้านการจัดการเรียนการสอน ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผลทำให้กระบวนการสอนมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่  รวมถึง ได้สร้างนวัตกรรมต้นแบบด้านการจัดการเรียนการสอนที่เป็นแบบอย่างได้ อย่างหลากหลายหรือไม่ เพียงใด....แล้วตัดสินระดับคุณภาพเป็น 1-ปรับปรุง 2-พอใช้   3-ดี    4-ดีมาก  และ   5-ดีเยี่ยม

   หากสถานศึกษากำหนดมาตรฐานมากกว่า 3 ด้าน  การประเมินภายนอกในแต่ละด้าน ก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน  โดยไม่มีการนำผลการประเมินแต่ละด้านมาเฉลี่ยในภาพรวม