วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2565

วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2564

เรื่องที่ 27 ประเมินรอบ 2565-2569 เน้นประเมินภายนอกด้านผู้เรียนเพียงอย่างเดียว...ดีไหม?

 

   ภายใต้หลัก "การจัดการศึกษาให้ถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด"(มาตรา 22 พ.ร.บ. การศึกษา 2542) หากในการประเมินภายนอกรอบถัดไป จะมุ่งเน้นที่คุณภาพผู้เรียนเป็นหลัก เพื่อผลักดันให้สถานศึกษาและทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับคุณภาพผู้เรียนและพยายามจัดการศึกษาให้บรรลุประสิทธิผลด้านผู้เรียน  กระบวนการบริหารจัดการ   กระบวนการจัดการเรียนการสอน หรือ กระบวนการสัมพันธ์ชุมชนเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ เป็นเพียงปัจจัยมูลเหตุ ที่ทำให้คุณภาพผู้เรียนมีพัฒนาการดีขึ้น เท่านั้น....ถ้าคิดเช่นนี้  "โรงเรียนที่ดี คือโรงเรียนที่ทำให้ผู้เรียนเกิดพัฒนาการ(Growth)  กล่าวคือ (1) สมรรถนะของผู้เรียนมีพัฒนาการดีขึ้นตามชั้นปีที่เรียน   หรือ (2) ผลการเรียนรุ่นหลัง ๆ ดีกว่ารุ่นก่อนๆ....ดังนั้น การประเมินภายนอกที่ดี คือ มุ่งรับรองคุณภาพ โรงเรียนที่สามารถสร้างพัฒนาการในตัวเด็กได้เป็นอย่างดี


ถ้าเน้นตรวจสอบพัฒนาการด้านผู้เรียน ตามระดับชั้นปี หรือเปรียบเทียบระหว่างรุ่น  โรงเรียนใด ทำได้ดี ก็ให้การรับรองคุณภาพว่า "รับรองคุณภาพ(Certified)" ......  โรงเรียนใดทำไม่ได้ก็ต้อง "อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องปรับปรุง-พัฒนา(under condition of Improvement)" ที่ร.ร.เองและต้นสังกัด ต้องดูแล ช่วยเหลือเป็นการด่วน


การประกันคุณภาพภายใน(IQA) อาจกำหนดมาตรฐานและประเมินทุกด้าน ทั้ง (1) ด้านผู้เรียน (2) ด้านการบริหารจัดการ  และ (3) ด้านการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ...เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาทุกด้านไปพร้อม ๆ กัน


การประเมินภายนอก(EQA)  ตัดสินกันที่คุณภาพด้านผู้เรียน เท่านั้น  ซึ่งจะทำให้ทุกโรงเรียนต้องหันไปพัฒนาเด็กจากพื้นฐานเดิม ณ ปีแรกรับ  ต้องทำให้พวกเขาเกิดการพัฒนา ดีมากขึ้น อย่างต่อเนื่อง(Growth)  ตามชั้นปี เช่น จากเด็กกลุ่มอ่อนตอน ม.1 กลายเป็นกลาง ๆ ใน ม.2  และ มีเด็กเก่งมากขึ้นเมื่อถึง ม.3 (เป็นการเทียบพัฒนาการตามชั้นปี)   หรือทำให้ผลการเรียนรุ่นหลัง ๆ มีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อเทียบกับรุ่นก่อน ๆ(เทียบระหว่างรุ่น) เป็นต้น....ถ้า EQA ทำเช่นนี้ ผมเชื่อว่า โรงเรียนจะหันมาจริงจังกับคุณภาพด้านผู้เรียนมากขึ้น เพราะไม่สามารถนำผลการประเมินด้านอื่นๆ คือด้านบริหาร หรือด้านการสอนมาเฉลี่ยในภาพรวมกันอีกต่อไป.....ในที่สุด การประเมินภายนอกก็จะมีผลต่อการกระตุ้น หรือยกระดับคุณภาพการศึกษาได้


ภายใต้ระบบประเมินภายนอกที่เน้นตัดสินรับรองคุณภาพ ด้วยการพิจารณาพัฒนาการด้านผู้เรียน เป็นสำคัญ.... ผู้ประเมินภายนอกก็ยังคงรวบรวมข้อมูลด้านกระบวนการบริหาร  กระบวนการสอน หรือกระบวนการสัมพัน์กับชุมชนเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ ตามปกติ  เพียงแต่ไม่มีการนำมาให้คะแนนหรือตัดสินคุณภาพ หรือนำมาประกอบการพิจารณาให้การรับรอง หรือไม่รับรองคุณภาพ..... เป็นการรวบรวมข้อมูลเพียงเพื่อประโยชน์ในการให้ข้อมูลป้อนกลับแก่โรงเรียน ในด้านแนวทางการปรับปรุงพัฒนาในอนาคต เท่านั้น

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 26 นวัตกรรมต้นแบบ ที่เป็นแบบอย่างได้หรือเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ



    ในการประเมินภานอกรอบที่ 4(2559-63)  ในการตัดสินคุณภาพของระบบประกันคุณภาพภายใน(สมศ.มุ่งประเมินระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา) สมศ.ได้กำหนดเกรดหรือระดับคุณภาพ จำแนกเป็น 5 ระดับ คือ 1-ปรับปรุง 2-พอใช้  3-ดี  4-ดีมาก  5-ดีเยี่ยม
   ในกรณีที่จะให้คุณภาพระดับดีเยี่ยม  สถานศึกษาจะต้อง (1) มีพัฒนาการด้านคุณภาพอย่างต่อเนื่อง 2-3 ปี หรือผ่านระดับคุณภาพ 4-ดีมาก  และ (2) มีนวัตกรรมต้นแบบ ที่เป็นแบบอย่างได้ เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ อย่างหลากหลาย (อย่างน้อย 2-3 รายการ)....คำถาม คือ นวัตกรรมต้นแบบ กับ  การชนะเลิศ ได้โล่ห์รางวัลต่างๆ มากมาย มันเหมือนกันหรือไม่...ผู้ประเมินจำนวนหนึ่ง จัดทำบัญชี แจงนับรางวัล พอเห็นว่ามีความหลากหลายก็ได้ผลการประเมินระดับ 5-ดีเยี่ยม  ซึ่ง ไม่น่าจะเหมาะสมหรือไม่ใช้เจตนารมณ์ของการกำหนดเกณฑ์ 5-ดีเยี่ยม ตามที่ สมศ.คาดหวัง
   นวัตกรรมต้นแบบ แตกต่างจาก การทำงานประสบความสำเร็จ อย่างไร  โปรดฟัง คลิปเสียงต่อไปนี้

>>>นวัตกรรมต้นแบบ คลิ๊ก แล้วเปิดเสียง <<<




วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 25 การจำแนกประเภทโรงเรียน เป็นสีเขียว เหลือง แดง เป็นสิ่งที่นักประกนคุณภาพภายในต้องทำและผู้ประเมินภายนอก ต้องรู้


   โรงเรียนสีเขียว โรงเรียนสีเหลือง และโรงเรียนสีแดงของจังหวัดนี้ เป็นสัดส่วนอย่างไร..เป็นสีแดง เหลือง และเขียว กี่เปอร์เซ็นต์ และตั้งเป้าว่าจะผลักดันโรงเรียนสีแดงและเหลือง ให้หมดไป กลายเป็นสีเขียวทั้งหมดภายในปีไหน??? .....เป็นคำถามที่ผมถามตัวแทนต้นสังกัดในระดับจังหวัดหรือในระดับเขตพื้นที่การศึกษา
--------
 สัปดาห์ที่ 19-25 ต.ค.2562  ผมมีโอกาสไปร่วมอภิปรายกับ สมศ.ในที่ประชุมผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรแกนนำ และตัวแทนจากต้นสังกัด ในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดขอนแก่น(มีผู้ร่วมประชุมจากหลายจังหวัด)...ผมถามคำถามข้างต้นกับแกนนำและตัวแทนต้นสังกัด...ผมคิดว่าแกนนำของแต่ละจังหวัดยังตอบคำถามได้ไม่ชัดเจน เผลออาจไม่มีข้อมูลที่เป็นรูปธรรม
...ถ้าเรามองว่าจังหวัด คือ กศจ. หรือ เขตพื้นที่การศึกษา คือ พ่อ ของสถานศึกษา ที่มีลูกจังหวัดละ 500-1500 โรง(โรงเรียนคือลูก) ..น่าจะสรุปได้ว่า พ่อยังไม่รู้ศักยภาพของครอบครัวลูก..ซึ่งจะยากอย่างยิ่งที่จะวางแผนและตัดสินใจว่าควรจะช่วยครอบครัวของลูก ๆ ครอบครัวใดก่อน...พ่อ ต้องเข้าไปช่วยหนุนครอบครัวลูกที่เป็นสีแดงและสีเหลืองให้เข้มแข็ง ยืนได้ด้วยตัวเองก่อน(กลายเป็นครอบครัวสีเขียว)
---------
   ไม่อยากเห็นต้นสังกัดระดับพ่อ คือ กศจ./เขตพื้นที่ คอยดูหรือรอคอยวัน-เวลาที่ ปู่(หน่วยงานต้นสังกัด เช่น สพฐ./สช./อปท.) และทวด คือ รมต./ศธ. ที่คิดแต่เรื่องจะยุบทิ้ง/ทำลายครอบครัวลูกเรา คือคอยคิดแต่เรื่องยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เป็นที่เรียนของลูกชาวบ้านที่ยากจนและด้อยโอกาส....ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว แทนที่คิดจะยุบ ศธ.ในฐานะทวด ต้องคิดเรื่องช่วยเหลือ ค้ำจุน 17,000 โรง ที่เป็นที่เรียนของลูกชาวบ้านที่ยากจนเรียนประมาณ 1 ล้านกว่าคน ให้เขามีโอกาส ลืมตา อ้าปาก เช่น อาจช่วยโรงเรียนละ 500000 บาท ต่อปี ยังคุ้มกว่าแจกฟรีแบบ "ชิม ช๊อป ใช้" เลย...(ได้แต่ภาวนาให้ผู้มีอำนาจมองเห็น/ตาสว่าง และเกิดความเมตตา)
----------

หมายเหตุ ผมเคยถามคำถามทำนองนี้กับ สพท.นนทบุรีเขต 2 ในปี 2548 ในฐานประธานกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา สพท.ตอบว่า มีโรงเรียนสีแดง 4 โรงเรียน ต่อ มาเมื่อมานั่งเป็นประธาน สพท.กทม.2 ผมถามคำถามว่า มีโรงเรียนประเภทที่ 1 กี่โรง โรงเรียนประเภทที่สอง(ไม่พร้อม) กี่โรง สพท.ตอบว่า มีประเภทที่สอง 6 โรง จาก 46 โรงเรียน..เมื่อมานั่งเป็นกรรมการเขต สพป.ปทุมธานี 2 ก็ถามแบบเดียวกัน เขต ตอบว่า มีโรงเรียนสีแดง ไม่ผ่าน สมศ. 13 โรง....ผมเลยได้ข้อสรุปว่า ถ้าประธานหรือกรรมการ หรือ Board ให้ความสำคัญ มันหาข้อมูลได้แน่นอน และเรามีโอกาสในการพัฒนาหรือกำกับติดตามได้อย่างมีคุณภาพ

เรื่องที่ 24 การสร้างความเข้าใจกับสถานศึกษา เกี่ยวกับ "ตรรกะสำคัญ : ผลย่อมเกิดจากเหตุปัจจัย"

โรงเรียนและผู้ประเมินภายนอก จะต้องเข้าใจตรรกะสำคัญ คือ "ผลย่อมเกิดจากเหตุปัจจัย" กล่าวคือ ถ้าโรงเรียนแห่งหนึ่งล้มเหลวด้านคุณภาพผู้เรียน ก็แสดงว่า (1) กระบวนการบริหารจัดการ และ (2)กระบวนการสอนและระบบดูแลช่วยเหลือเด็ก ยังไม่ประสบความสำเร็จ(ใช่หรือไม่)

   ในการประเมินภายนอก ถ้าพบว่า ด้านคุณภาพผู้เรียน ไม่ว่าพิจารณาแบบอิงเกณฑ์(ร้อยละของเด็กที่มีคุณภาพระดับดี-ดีมาก) หรือพิจารณาจากพัฒนาการ(คุณภาพปีหลัง เทียบกับปีก่อน   หรือคุณภาพเด็กเมื่อเข้ามาเรียนครบ 3 ปี โดยเทียบกับฐานเดิมตอนแรกรับ)  หากพบว่า คุณภาพก็ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด หรือพัฒนาการ(Growth)ก็ไม่มี  หากกำหนดเป็นเกรดก็อยู่ระดับพอใช้-ดี ในกรณีเช่นนี้ แสดงว่าการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้ ยังไม่ประสบความสำเร็จ  ดังนั้นผลการประเมินคุณภาพด้านการบริหารและการสอนก็ไม่ควรได้รับผลการประเมินสูงกว่าระดับ "ดี"

   โดยนัยดังกล่าวข้างต้น  การตัดสินคุณภาพหรือการให้เกรดคุณภาพด้านบริหารและการสอน ไม่ควรสูงกว่าคุณภาพด้านผู้เรียน...จริงไหม???
-----------
   การบริหารสถานศึกษาก็เหมือนกับการบริหารจัดการในครอบครัว ถ้าลูกไม่เป็นคนดีของสังคม ไม่มีความรู้-ความสามารถเพียงพอที่จะดูแลตนเองในชีวิต...พ่อแม่จะอ้างว่า (1)อบรมสั่งสอนดีแล้ว และ(2)บริหารจัดการครอบครัวดีแล้ว ขอรับเกรดคุณภาพเป็นครอบครัวดีเด่น...มันย่อมฟังไม่ขึ้น
-----------
   ในการสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจในการประเมินภายนอกของ สมศ. ผมย้ำประเด็นนี้บ่อยครั้งมาก แต่เชื่อไหม...มันยังไม่เป็นที่เข้าใจตรงกันสักทีทั้งจากสถานศึกษาและผู้ประเมินภายนอก

วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 23 พบประเด็นที่บกพร่องของโรงเรียนที่วิกฤติหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อนักเรียน ควรบันทึกผลในรายงานหรือไม่

   เมื่อผู้ประเมินคนหนึ่ง พบว่าในการประเมินสถานศึกษา ได้พบจุดอ่อนหรือความบกพร่องสำคัญของสถานศึกษา เช่น เครื่องเล่นของด็กชำรุด แตกหัก อยู่ในภาวะล่อแหลมต่ออันตราย   มีเหล็กแหลมคมโผล่ที่ริมรั้วในระดับใบหน้าของเด็กนักเรียน  มีร่องน้ำที่สัตว์เลื้อยคลานสามารถเข้ามาในโรง
เรียนได้ง่าย(ติดกับป่า) โดยพบว่าในช่วงที่ไปประเมิน มีงูเลื้อยเข้ามาทางช่องนั้นๆ และเด็กอนุบาลกำลังเอาไม้ไล่ตีงู  ซึ่งทันทีที่พบจุดบกพร่องเหล่านี้ ก็ได้ตักเตือน  ..ซึ่งปรากฏว่าในวันรุ่งขึ้น โรงเรียนสั่งปรับปรุงทันที คือ เอาตาข่ายมาคลุมช่องทางที่สัตว์เลื้อยคลานจะเข้ามา(มีโครงเหล็กพร้อมมุ้งตาข่ายที่ป้องกันได้)  ยกของเล่นที่แตกหักออก  ตัดเหล็กดัดริมรั้วออกให้ดูปลอดภัย ฯลฯ

   สรุปปัญหา คือ โรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งมีเด็กระดับชั้นปฐมวัย ได้บกพร่องเรื่องความปลอดภัย ถือเป็นเรื่องสำคัญ  ซึ่งผู้ประเมินได้บันทึกไว้ในบันทึกภาคสนามแล้ว  เมื่อนำเสนอผลการประเมินเบื้องต้นด้วยวาจา ก็ได้นำเสนอประเด็นเหล่านี้ต่อที่ประชุมผู้เกี่ยวข้อง...แต่ โรงเรียนได้ทักท้วงและร้องขอว่า ขออย่าได้เขียนในรายงานการประเมินฉบับสมบูรณ์ หรือบทสรุปสำหรับผู้บริหาร เพราะจะทำให้ผู้ปกครองไม่สบายใจหรือตกใจกลัวได้

    คำถาม
1. ผู้ประเมินควรระบุจุดอ่อนเหล่านี้ แบบตรงไปตรงมาในรายงานการประเมินหรือไม่..ถ้าระบุจะเกิดผลกระทบต่อสถานศึกษาหรือไม่ อย่างไร
2. ถ้าไม่ระบุแบบตรงๆ ควรระบุอย่างไร หรือกำหนดเงื่อนไขอย่างไรกับสถานศึกษา
3. ถ้าไม่ระบุแบบตรงๆ โดยถือว่า ได้นำเสนอด้วยวาจา(Oral Presentation) และโรงเรียนได้แก้ไขปรับปรุงโดยเร่งด่วนแล้ว จะถือเป็นความบกพร่องในจรรยาบรรณของผู้ประเมินหรือไม่

วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 22 การให้ระดับคุณภาพในการประเมินภายนอกรอบสี่ : ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง


การประเมินระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา 

      จากการสังเกตผลการประเมินภายนอกโรงเรียนต่างๆ ซึ่งเป็นการประเมินความเข้มแข็งของระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา พบว่า ระดับคุณภาพที่ให้กับโรงเรียน สะท้อนว่า ผู้ประเมินจำนวนหนึ่งยังเข้าใจไม่ตรงกัน เกี่ยวกับเกณฑ์การให้ระดับคุณภาพผลการประเมินรายมาตรฐาน

      ตามหลักการของรอบที่สี่ .โรงเรียนตัดเสื้อ/ใส่เสื้อได้ตามอัธยาศรัย/กำหนดมาตรฐานเอง/ประกันคุณภาพตนเองตามอัธยาศรัย ครับ ...สมศ.ไปดูว่า
(1) โรงเรียนกำหนดมาตรฐาน+ตัวบ่งชี้ เหมาะสมไหม มีแผนงานโครงการรองรับอย่างเหมาะสมและเป็นไปได้ไหม
(2) ผลการประเมินตนเองของโรงเรียน น่าเชื่อถือไหม และ
(3) เกิดประสิทธิผลหรือเกิดผลดีตามเป้าประสงค์(Objectives)ของโรงเรียนไหม
----------
(4) ผลการพัฒนาหรือคุณภาพในระยะ 2-3 ปี มีพัฒนาการ(Growth)ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องไหม และ
(5) สามารถพัฒนานวัตกรรมต้นแบบที่หลากหลาย เป็นแบบอย่างในระดับประเทศ ที่ผ่านการเผยแพร่ อย่างเป็นรูปธรรมไหม...
----------
      ถ้าตอบ Yes 3 ข้อ ถือเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพมาตรฐาน หรือได้ผลการประเมินระดับดี(3) ถ้าตอบ Yes 4 ข้อ จะขึ้นสู่ระดับดีมาก(4) ถ้าตอบ Yes ทั้ง 5 ข้อ จะได้ ดีเยี่ยม(5)
-----------
      ตามนัยข้างต้น โรงเรียนที่ไม่มีโอกาสคัดเลือกเด็กเลย รับเด็กกลุ่มอ่อนหรือกลุ่มเสี่ยงเกือบทั้งหมด เข้ามาเรียน  แต่หากสามารถทำให้เด็กเกิดการพัฒนาขึ้นได้อย่างต่อเนื่องทั้งด้านวิชาการและด้านคุณลักษณะ จะมีโอกาสได้เกรดดีมาก(4)   หรือดีเยี่ยม(5)ได้.....โรงเรียนที่ปรากฏผลการประเมินตนเองปีล่าสุดสูงมาก(หรือบรรลุตามเป้าประสงค์ในระดับยอดเยี่ยม) แต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ในระยะ 2-3 ปีหลัง เด็กมีคุณภาพทั้งด้านวิชาการและคุณลักษณะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง  กรณีเช่นนี้ ผู้ประเมินภายนอก ไม่สามารถให้ผลการประเมินระดับ 4-ดีมาก หรือ 5-ดีเยี่ยมได้  อาจให้ผลการประเมินระดับ 3-ดี เท่านั้น

      อนึ่ง ในการประเมินรอบสี่ จะตัดสินและให้ระดับคุณภาพเป็นรายด้านหรือรายมาตรฐาน ไม่มีการรวมหรือเฉลี่ยในระดับภาพรวมของโรงเรียน และไม่มีการตัดสินว่ารับรองหรือไม่รับรอง แต่จะเน้นชี้แนะเพื่อการพัฒนา....โดยการชี้แนะจะมี 3 ประเภท คือ
I. รายการที่ต้องแก้ไขด่วน
II.รายการที่ควรปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และ
III.รายการที่ควรพัฒนาขึ้นสู่การเป็นโรงเรียนนวัตกรรมต้นแบบ


การประเมินความโดดเด่นเฉพาะทาง
   การประเมินความโดดเด่นเฉพาะทาง เป็นทางเลือกสำหรับสถานศึกษาที่ขอรับการประเมินเป็นพิเศษด้านใดด้านหนึ่ง อาทิ  ด้านวิชาการควบคู่กับคุณธรรม  ด้านทักษะภาษา   ด้านทักษะเฉพาะทาง  ด้านการบริหารจัดการ หรือ อื่น ๆ  ต้องเป็นประเด็นที่สถานศึกษาให้ความสำคัญและมุ่งมั่นพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จ โดยผู้ประเมินจะพิจารณาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ แล้วตดสินให้ระดับคุณภาพเป็น
C1 : โดดเด่นระดับภูมิภาค
C2 : โดดเด่นระดับชาติ
C3 : โดดเด่นระดับนานาชาติ
   กรณีโดดเด่นระดับชาติหรือนานาชาติ สมศ.จะประกาศเกียรติคุณ ให้เป็นที่รับทราบอย่างแพร่หลายในอนาคต