วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เรื่องที่ 20 เงื่อนไขสำคัญในการให้ผลการประเมินระดับ 4-ดีมาก หรือ 5-ดีเยี่ยม ตามเกณฑ์ สมศ.

ในการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจและเตรียมพร้อมรองรับการประเมินภายนอกปี 2562-63 ณ โรงแรมสุนีย์ แกรนด์  จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562  ตัวแทนต้นสังกัดท่านหนึ่ง กล่าวในการร่วมอภิปรายว่า ตอนนี้ โรงเรียนสังกัดเราสบายใจขึ้นเยอะ ไม่เครียดแล้ว เพราะทราบว่ามีโรงเรียนสังกัด อปท.จำนวนหนึ่งในอุบลราชธานี ได้เข้ารับการประเมินเมื่อ  2 เดือนที่แล้ว  ขนาดโรงเรียนเหล่านั้นยังได้ผลการประเมินในระดับ 4-ดีมาก และ 5-ดีเยี่ยม ในบางด้าน  เราเลยไม่กังวลใจแล้ว...(ผมฟังแล้วสะอีกเลย)

ผู้ประเมินภายนอก สมศ.และผู้เกี่ยวข้อง ควรทำความกระจ่างเกี่ยวกับเกณฑ์การตัดสินคุณภาพ ในการประเมินภายนอกของ สมศ. ให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน โดยเฉพาะการให้ผลการประเมินระดับ 4-ดีมาก  และ 5-ดีเยี่ยม  ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้

การตัดสินให้คุณภาพระดับ 4-ดีมาก

   คุณภาพระดับ 4-ดีมาก   การจะตัดสินให้คุณภาพในระดับนี้ได้ สถานศึกษาต้องแสดงหลักฐานอย่างชัดเจนว่า  คุณภาพการศึกษา มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอด 2-3 ปีหลังสุด  ....เช่น ถ้าคุณภาพด้านผู้เรียนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ผลการประเมินด้านผู้เรียนก็จะได้ระดับคุณภาพ 4-ดีมาก เช่น

  • คะแนนเฉลี่ยโอเน็ตสู่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ปีการศึกษา ดังนี้ 47.26 %  53.48 %  56.25 %  ตามลำดับ..แสดงว่า ในประเด็นของโอเน็ต(เป็นหนึ่งประเด็น)โรงเรียนมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • คะแนนเฉลี่ยโอเน็ตสูงอย่างคงที่อยู่ที่ร้อยละ 87.42, 87.35 , และ 87.28 ตามลำดับ(เป็นโรงเรียนชั้นนำประเทศ)แต่ ร้อยละของเด็กที่ได้คะแนนโอเน็ตต่ำกว่า 50 % (เนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนชั้นนำประเทศ  เด็กที่ได้โอเน็ตต่ำกว่า 50 % มีไม่มากนัก) ในระยะ 3 ปีหลัง เหลือเพียง 14 %     9 %   และ  2 % ตามลำดับ หรือ ปีล่าสุดเหลือเพียง 2 % เท่านั้น ...แสดงว่า ในประเด็นของโอเน็ต โรงเรียนแห่งนี้มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • หากเป้าหมายคุณภาพมีหลายประเด็นหรือหลายตัวบ่งชี้ เช่น กำหนดประเด็นคุณภาพในเรื่อง ทักษะการอ่าน-นิสัยรักการอ่าน    ความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์   การสร้างสรรค์นวัตกรรม   ความสามารถด้านเทคโนโลยีเพื่อการดำเนินชีวิต  ผลการสอบโอเน็ต   คุณลักษณะด้านรักความเป็นไทย ฯลฯ ถ้าโรงเรียนกำหนดประเด็นย่อยๆ เหล่านี้ 10 ประเด็น    โรงเรียนต้องสามารถอธิบายให้เห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เป็นส่วนใหญ่ของรายการที่กำหนด( ประมาณ 7 ใน 10)  ก็จะถือว่า ผลการประเมินภายนอกด้านผู้เรียน โรงเรียนจะได้ระดับคุณภาพ 4-ดีมาก หรือมีพัฒนาการดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง


กรณีศึกษา I : โรงเรียนแห่งหนึ่งประเมินตนเองด้านผู้เรียน พบว่า โรงเรียนสามารถพัฒนาคุณภาพด้านผู้เรียนได้สูงกว่าเป้าประสงค์ที่กำหนดในทุกประเด็น(เช่น 10 ประเด็นคุณภาพ) จึงตัดสินว่า โรงเรียนมีคุณภาพระดับ "ยอดเยี่ยม"   "ยอดเยี่ยม"  และ  "ยอดเยี่ยม"  อย่างต่อเนื่องมา 3 ปี (เป็นมาตรคุณภาพระดับสูงสุดของการประเมินภายใน)   
      ผู้ประเมินภายนอก ถาม :  แนวโน้มคุณภาพด้านผู้เรียนดีมีพัฒนาการขึ้นหรือไม่ โปรดอธิบาย
      โรงเรียน ตอบ :  ก็มันสูงสุดแล้ว จะดีขึ้นได้อย่างไร  มันก็อยู่ตรงนี้แหละ
      ผู้ประเมิน ถาม : เด็กกลุ่มเรียนอ่อน หรือกลุ่มที่มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ยังไม่เข้มข้นพอ  มีหรือไม่  มีประมาณกี่ % ของนักเรียนทั้งหมดในแต่ละรุ่น   โรงเรียนทำอย่างไรกับเด็กกลุ่มนี้  ผลเป็นอย่างไร ในปีหลัง ๆ มีแนวโน้มดีขึ้นหรือไม่
      โรงเรียน ตอบ: เรายังไม่ได้ลงลึกขนาดนั้น คงต้องรอในปีต่อๆไป

    ผู้ประเมินภายนอก สรุปว่า  ด้านผู้เรียน โรงเรียนประเมินตนเองในระดับยอดเยี่ยม มา 3 ปีการศึกษาต่อเนื่อง โดยไม่ปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า คุณภาพผู้เรียนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เด็กกลุ่มอ่อนหรือกลุ่มเสี่ยง ก็ไม่มีแนวโน้มลดลง หรือเด็กกลุ่มเก่ง-ปัญญาเลิศ ก็ไม่ได้มีพัฒนาการหรือมีจำนวนมากขึ้น..สรุปว่า ด้านผู้เรียนไม่มีพัฒนาการดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถให้ผลการประเมินระดับ 4-ดีมาก ตามเกณฑ์ของ สมศ.ได้

การตัดให้คุณภาพระดับ 5-ดีเยี่ยม
   ในการประเมินภายนอกมาตรฐานใด ๆ เช่น การประเมินระบบประกันคุณภาพภายในด้านผู้เรียน ของโรงเรียน....การให้ ระดับคุภาพ 5-ดีเยี่ยม :โรงเรียนต้องสามารถสร้างนวัตกรรมต้นแบบด้านการพัฒนาผู้เรียน เป็นแบบอย่างได้ อย่างหลากหลาย  (ไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนใหญ่ของประเด็นด้านผู้เรียน แต่ให้พิจารณาที่ความหลากหลาย)  เช่น มี 2 รายการ ที่เป็นนวัตกรรมระดับนานาชาติ ไปนำเสนอในต่างประเทศหรือชนะเลิศมาแล้วในระดับนานาชาติมาแล้ว ก็ให้ระดับ 5-ดีเยี่ยมได้  แต่ถ้าประสบความสำเร็จในระดับชาติ ก็ควรมากกว่า 4-5 รายการ(จากประเด็นที่กำหนดด้านผู้เรียน 10 รายการ)  โดยในกรณีนี้ ผู้ประเมินต้องมั่นใจว่า
    (1) ผลงานของโรงเรียนต้อง "มีความเป็นนวัตกรรม อย่างแท้จริง"  เช่น เป็นวิธีการที่ผ่านการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนามาหลายปี จนประสบความสำเร็จ  เป็นวิธีการที่สร้างสรรค์ อิงหลักการหรือแนวคิดทฤษฎีใหม่ ๆ อย่างเป็นรูปธรรม  เช่น ด้านส่งเสริมให้เด็กเป็นนักอ่าน-ใฝ่เรียนรู้  ได้ศึกษาวิธีการของเกาหลี  ญี่ปุ่น และสิงค์โปร์ หลังจากนั้น สังเคราะห์เป็นวิธีการของโรงเรียนเอง  ได้ทดลองและปรับปรุงมา 3 ปี ปัจจุบัน เด็กที่นี่ เป็นนักอ่านแบบสะสมไมล์ มีผลงานการอ่านเยอะมากในแต่ละปี  จนส่งผลกระทบทำให้โอเน็ตสูงขึ้น อย่างเห็นได้ชัดในระยะ 2-3 ปีหลัง
     หากโรงเรียนบอกว่า ในด้านการสอน ครูที่นี่ สร้างนวัตกรรมต้นแบบอย่างหลากหลาย เช่น ทำชุดฝึก แบบฝึกในทุกรายวิชา  ...ผู้ประเมินต้องซักถามให้ชัดเจนว่า ชุดฝึก แบบฝึก มีความเป็นนวัตกรรม อย่างไรบ้าง  พัฒนาขึ้นบนจิตวิทยาการเรียนรู้สมัยใหม่ หรือการเสริมแรงเชิงบวก  หรืออิงแนวคิดทฤษฎีใหม่ ๆ อย่างไร...หากโรงเรียนอธิบายไม่ได้  ก็น่าจะเรียกว่า เป็นสื่อการสอนธรรมดา ที่ทำกันทั่วไปใน 3-4 หมื่นโรงเรียน ที่ไม่ได้เป็นแนวทางใหม่ ๆ หรือเป็นนวัตกรรม แต่ประการใด
   (2) ผู้ประเมินภายนอกต้องมั่นใจว่า  การให้ผลการประเมินระดับ 5-ดีเยี่ยม ในด้านใด ๆ...โรงเรียนนั้นต้องโดดเด่นระดับชาติ หรือนานาชาติ ที่พร้อมจะเป็นแหล่งเรียนรู้หรือศึกษาดูงานของโรงเรียนในประเทศไทย หรือในอาเซียน  หากไม่มั่นใจก็ยังไม่ควรให้ผลการประเมินในระดับนี้ เพื่อผลักดันในโรงเรียนมุ่งมั่นยกระดับสู่ความสำเร็จระดับสูงหรือนานาชาติ ในอนาคต(ปัจจุบัน ประเทศไทยมีคุณภาพอยู่ในระดับล้าหลังของประเทศในอาเซียน หรือในโลก  อันดับ 7 หรือ 8 อาเซียน หรือ 50 กว่า ๆ ในอันดับโลก)

4 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสําหรับข้อมูลดีๆ มีประโยชน์มากครับ

    ตอบลบ
  2. เรียน อาจารย์สุพักตร์ที่เคารพยิ่ง ขออนุญาตนำเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรูนะคะ ผิด ถูกอย่างไร ขอความกรุณาท่านได้ชี้แนะ ...กรณีรร.สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้ดำเนินตามนโยบายของ ศธ.ทุกประการ เนื่องจากอปท.เอง ตระหนักว่า เมื่อถ่ายโอนภารกิจมาจัดการศึกษาเอง ก็ควรมีโอกาสสังเคราะห์ใช้นโยบายตามบริบทของท้องถิ่น เพื่อไม่ให้สถานศึกษาต้องรับภาระหนักเกินไป กรณีนี้ ผู้ประเมินภายนอกควรจะต้องตระหนักในวิธีคิดนี้ด้วยถูกต้องหรือไม่คะ

    ตอบลบ
  3. ฟังท่านบรรยายเมื่อวาน วันนี้มาอ่านเพิ่มเติม กระจ่างเลยครับ

    ตอบลบ
  4. ขอบคุณข้อมูลดีๆ ในมุมมองสถานศึกษาแบบลึกๆ

    ตอบลบ